.

Friday, February 12, 2010

ไทรอยด์ผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์ อันตราย!

ตลอด 9 เดือนที่อุ้มท้องลูกน้อย อาจมีโรคภัยหลายอย่างที่เป็นอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ หนึ่งในนั้น คือ ภาวะไทรอยด์ผิดปกติ เป็นภัยคุกคามสำคัญที่คุณแม่ต้องเฝ้าระวัง

แพทย์หญิงสมพร วงศ์เราประเสริฐ อายุรแพทย์ระบบต่อมไร้ท่อและเบาหวานโรงพยาบาลเวชธานี ให้รายละเอียดเกี่ยวกับความสำคัญของฮอร์ฮอร์โมนไทรอยด์ในหญิงตั้งครรภ์ว่า

ฮอร์โมนไทรอยด์จะช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกายและอวัยวะต่างๆ หากขาดฮอร์โมนไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์อาจทำให้ทารกในครรภ์มีการสร้างอวัยวะที่ไม่สมบูรณ์ อาจทำให้เกิดโรคเอ๋อ คือมีความผิดปกติทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อ พัฒนาการทางสมอง สติปัญญา และร่างกายช้ากว่าปกติ เตี้ยะแคระแกรน รวมทั้งทำให้ต่อมไทรอยด์ของทารกต้องทำงานหนักเพื่อผลิตฮอร์โมนจนอาจเกิดภาวะคอพอก หากเป็นรุนแรง คอพอกอาจมีขนาดใหญ่จนกดการหายใจของทารกช่วงคลอดได้

ระหว่างที่ตั้งครรภ์ ต่อมไทรอยด์จะผลิตฮอร์โมนไทรอยด์มากขึ้นจากหลายกลไก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาในช่วงตั้งครรภ์ ได้แก่ การส่งผ่านฮอร์โมนไทรอยด์และสารไอโอดีนทางรกไปยังลูกน้อย การขับไอโอดีนทางปัสสาวะทำให้ระดับไอโอดีนในเลือดลดลง สารบางอย่าง (Thyroid binding globulin) ในร่างกายเพิ่มมากขึ้นทำให้ฮอร์โมนไทรอยด์ออกฤทธิ์ลดลง เป็นต้น ทำให้หญิงตั้งครรภ์หลายคนมีต่อมไทรอยด์โตชั่วคราวในช่วงตั้งครรภ์ ด้วยเหตุนี้เององค์การอนามัยโลกจึงแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์รับสารไอโอดีนในอาหารปริมาณ 200 ไมโครกรัมต่อวัน ในขณะที่คนปกติทั่วไปต้องการไอโอดีน 150 ไมโครกรัมต่อวัน

โรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์อันตรายอย่างไร?

ไทรอยด์บกพร่อง (Hypothyroidism)

มีหลายสาเหตุได้แก่ ไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง หรือโรคภูมิต้านทานผิดปกติต่อตนเองของไทรอยด์ เรียกว่า โรคฮาชิโมะโต๊ะ (Hashimoto’s thyroiditis) การกลืนแร่รังสีเพื่อรักษาไทรอยด์เป็นพิษ การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ การได้รับยาต้านไทรอยด์มากเกินไป ส่วนอีกสาเหตุหนึ่ง ปัจจุบันพบได้น้อยคือ การขาดไอโอดีนที่ทำให้เกิดโรคคอพอก

หากมีไทรอย์บกพร่องในขณะตั้งครรภ์ และไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม อาจส่งผลกระทบทั้งมารดาและลูกน้อย ได้แก่ การแท้ง คลอดก่อนกำหนด ครรภ์เป็นพิษ รกลอกตัวก่อนกำหนด ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย การตายคลอด รวมทั้งภาวะผิดปกติของพัฒนาการทางร่างกายและสมองของทารกดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นนั่นเอง

การรักษาคือรับประทานฮอร์โมนไทรอยด์ชื่อไทร๊อกซิน หรือเอลทร๊อกซิน (Thyroxin, Eltroxin) อย่างสม่ำเสมอและถูกขนาด ซึ่งต้องมีการปรับขนาดยาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ที่สำคัญคือ ฮอร์โมนไทรอยด์จะถูกดูดซึมน้อยลงเมื่อรับประทานร่วมกับยาธาตุเหล็กและแคลเซียม หญิงตั้งครรภ์มักได้รับเพื่อบำรุงครรภ์ ดังนั้นจึงควรรับประทานห่างกันอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง หญิงตั้งครรภ์ที่รักษาภาวะไทรอยด์บกพร่องด้วยฮอร์โมนไทรอยด์ หลายคนมักเข้าใจผิดว่ายาฮอร์โมนอาจส่งกระทบต่อเด็กในครรภ์ และหยุดยาเองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ ทำให้เด็กในครรภ์เกิดภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์นำมาสู่ผลกระทบต่างๆ ดังนั้นจึงไม่ควรหยุดยา และในบางคนอาจต้องได้รับขนาดยาที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากช่วงตั้งครรภ์มารดาต้องส่งผ่านฮอร์โมนไปยังลูกน้อย และภาวะการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นนั่นเอง

ไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism)

มีอาการ ขี้ร้อน เหงื่อออกมาก อ่อนเพลีย กังวล หัวใจเต้นเร็ว อาจพบได้ในหญิงตั้งครรภ์ปกติได้ แต่อาการน้ำหนักลด หัวใจเต้นเร็วมากกว่า 100 ครั้ง/นาที ต่อมไทรอยด์โตทั่วไป และอาการระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้อาเจียนมากจะทำให้นึกถึงไทรอยด์เป็นพิษมากขึ้น

สาเหตุของไทรอยด์เป็นพิษที่พบบ่อยที่สุดคือ โรคคอพอกตาโปน หรือโรคเกรฟ (Graves’ disease) เป็นโรคภูมิต้านทานผิดปกติที่ไทรอยด์ชนิดหนึ่ง กระตุ้นให้ไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ โดยพบเป็นสาเหตุถึง 85-95% สาเหตุอื่นๆ ได้แก่ ต่อมไทรอยด์อักเสบ ก้อนเนื้องอกที่ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ครรภ์ไข่ปลาดุก ภาวะไทรอยด์เป็นพิษชั่วคราวจากภาวะแพ้ท้องรุนแรง

ความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนในมารดาและทารกขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เป็นและการควบคุมภาวะไทรอยด์เป็นพิษภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้แก่ การคลอดก่อนกำหนด ภาวะครรภ์เป็นพิษ ส่วนภาวะแทรกซ้อนในเด็ก คือ ภาวะตายคลอด เด็กน้ำหนักตัวน้อยกว่ากำหนดและพิการ

การรักษาไทรอยด์เป็นพิษในหญิงตั้งครรภ์ต้องได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น และต้องติดตามผลการทำงานของไทรอยด์เป็นระยะ เนื่องจากหากได้รับยาต้านไทรอยด์มากเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อเด็กในครรภ์ทำให้มีภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำได้ และที่สำคัญคือการกลืนน้ำแร่เพื่อรักษาไทรอยด์เป็นพิษเป็นข้อห้ามในหญิงตั้งครรภ์ หากสงสัยว่าจะตั้งครรภ์ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบ

ไทรอยด์เป็นพิษในหญิงตั้งครรภ์จะควบคุมได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออายุครรภ์มากขึ้นแต่มักกำเริบหลังคลอดบุตร เพราะฉะนั้นการเฝ้าระวังอาการไทรอยด์เป็นพิษและติดตามผลการทำงานของไทรอยด์หลังคลอดเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อมไทรอยด์โต

แต่ทำหน้าที่ปกติ (Euthyroid goiter)

ส่วนหนึ่งของผู้ป่วยกลุ่มนี้ มีภาวะภูมิต้านทานผิดปกติต่อตนเองของไทรอยด์ทำให้มีไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง (Autoimmune thyroiditis) เสี่ยงต่อไทรอยด์ทำงานบกพร่อง ดังนั้นจึงควรตรวจการทำงานของไทรอยด์เมื่อตั้งครรภ์เพื่อเฝ้าระวังไทรอยด์ทำงานน้อยผิดปกติ

ก้อนที่ต่อมไทรอยด์

พบว่าหญิงตั้งครรภ์มีอุบัติการณ์การเกิดก้อนที่ต่อมไทรอยด์มากกว่าหญิงที่ไม่ตั้งครรภ์ รวมทั้งผู้ที่มีก้อนที่ต่อมไทรอยด์อยู่แล้วอาจมีก้อนที่โตขึ้นได้ อย่างไรก็ตามไม่พบว่ามีอุบัติการณ์ของมะเร็งไทรอยด์เพิ่มขึ้น

เพราะฉะนั้นผู้ที่กำลังตั้งครรภ์และสงสัยว่าตนอาจมีความเสี่ยงเป็นโรคไทรอยด์ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว รวมถึงผู้ที่วางแผนตั้งครรภ์ควรรับการตรวจสุขภาพโดยละเอียดเพื่อให้รู้ว่า เราพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์หรือไม่


ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์และต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลเวชธานี
[ ... ]

หลากอาการน่าสงสัย...เตือนว่าหัวใจกำลังมีปัญหา

เรื่องของหัวใจไม่เข้าใครออกใคร อยู่ดีๆ ก็อาจมีอาการน่าสงสัยว่าสุขภาพหัวใจจะมีปัญหาขึ้นมาแบบไม่ทันตั้งตัวได้ ผู้ป่วยหลายรายไม่เคยสำรวจตัวเองมาก่อน ว่าตนมีความเสี่ยงของโรคหัวใจแฝงอยู่ ทั้งๆ ที่หัวใจพยายามฟ้องออกมาด้วยอาการผิดปกติต่างๆ จนกระทั่งมีอาการรุนแรงมากถึงได้รู้ว่าโรคหัวใจที่เป็นอยู่นั้นมาสู่ระยะสุดท้ายของโรคเสียแล้ว

โรคหัวใจ โดยทั่วไปมักจะมีอาการเตือนก่อนเกิดโรค ซึ่งเมื่อเกิดอาการเหล่านี้แล้ว สิ่งที่ควรทำหลังจากเกิดอาการคือ พบแพทย์โรคหัวใจ เข้ารับการตรวจร่างกายและวินิจฉัยหาความเสี่ยงของโรคหัวใจ เพื่อหาแนวทางรักษาและป้องกันก่อนจะเกิดภาวะวิกฤตขึ้นกับสุขภาพหัวใจ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นอาจลุกลามไปจนถึงขั้นเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต หรือเสียงชีวิตได้


หลากอาการน่าสงสัยของโรคหัวใจ
1. เหนื่อยง่ายเวลาออกแรง
2. ใจสั่นหัวใจเต้นแรง ชีพจรเต้น ไม่สม่ำเสมอ
3. เจ็บแน่นหน้าอกตรงกลาง
4. หน้ามืดเป็นลมไม่ทราบสาเหตุ
5. เวียนศีรษะ มึนงง เหมือนจะเป็นลม
6. นอนศีรษะสูง/เหนื่อยตอนกลางคืน
7. ริมฝีปากและมือเท้าเขียว
8. บวมทั้งตัวโดยเฉพาะขา
9. เส้นเลือดที่คอโป่งพอง
10. ท้องโตตับโตไม่ทราบสาเหตุ
11. น้ำหนักเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ
12. ไอเป็นเลือดไม่ทราบสาเหตุ

ผู้ป่วยโรคหัวใจบางรายหากได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ สามารถกลับมามีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงได้เกือบเหมือนก่อนเป็นโรคหัวใจ บางรายหลังเข้ารับการรักษาอาการดีขึ้นมาก สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แต่น่าเสียดายที่ผู้ป่วยบางรายต้องจบชีวิตลง โดยไม่เคยรับรู้ด้วยซ้ำว่าตนต้องสังเวยชีวิตให้กับโรคหัวใจทั้งๆ ที่อายุยังไม่มาก

เพราะฉะนั้น โรคหัวใจเป็นเรื่องที่ประมาทไม่ได้ หมั่นตรวจสุขภาพหัวใจ อย่างน้อยก็ควรตรวจร่างกายประจำปี หรือหากพบอาการน่าสงสัยดังกล่าวข้างต้นควรรีบพบแพทย์ และหากไม่มีโอกาสหรือมีข้ออ้างเรื่องเวลาในการเข้ารับการตรวจสุขภาพ ก็ถือโอกาสในวันวาเลนไทน์นี้พาคนที่คุณรักไปตรวจสุขภาพหัวใจและใช้โอกาสนี้ดูแลสุขภาพหัวใจของคุณและคนที่คุณรัก ...ป้องกันไว้ก่อนหัวใจจะมีปัญหารุนแรง เพราะเมื่อพบว่ามีความเสี่ยงจะได้ไม่พลาดโอกาสในการรักษาได้ทันเวลา

ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเวชธานี
[ ... ]

Tuesday, February 9, 2010

"ชิคุนกุนยา"

โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya) สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคชิคุนกุนยาในจังหวัดพัทลุง รายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2552 พบผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยาแล้ว 33 คน โดยสำรวจพบผู้ป่วยครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือระหว่าง 25-34 ปี อาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือกลุ่มเกษตรกร นักเรียน นักศึกษา และอาชีพรับจ้าง อำเภอที่พบผู้ป่วยมากสุด คืออำเภอป่าพะยอม อำเภอกงหรา อำเภอเขาชัยสน และอำเภอเมือง ตามลำดับ โดยผู้ป่วยทั้งหมดได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลอำเภอนั้น ผู้ป่วยทุกรายอยู่ในอาการปลอดภัย

อัตราการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้นหลังมีผู้ป่วยเดินทางกลับจากรับจ้างกรีดยางพาราจากจังหวัดใกล้เคียง เบื้องต้นทางจังหวัดได้เรียกเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประชุมด่วน เพื่อรับมือป้องกันโรคดังกล่าวไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มมากขึ้น โดยเน้นให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ออกติดตามเฝ้าระวังผู้ป่วยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชน และหากพบผู้ป่วยเพิ่มในพื้นที่ใดให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าควบคุมโรคทันที กรมควบคุมโรคร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดวางแผนกำลังดำเนินการระดม อสม.ในพื้นที่ที่มีผู้ป่วย กำจัดลูกน้ำยุงลายทั้งในบ้าน และรอบๆ บ้าน ในสวนทุก 7 วัน พ่นหมอกควันเคมีทำลายยุงตัวแก่ทั้งตำบล ติดต่อกันทุกสัปดาห์ และได้แจ้งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ เฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝน ทำให้ปริมาณยุงลายมีมากขึ้น และแจ้งโรงพยาบาล สถานีอนามัยทั่วประเทศ สังเกตอาการผู้ป่วยหากพบมีไข้สูง ร่วมกับอาการผื่น และมีอาการปวดข้อต่างๆ ซึ่งเป็นอาการเฉพาะของโรคนี้ ขอให้นึกถึงว่าเป็นโรคชิคุนกุนยา

ลักษณะของโรค
โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค มีอาการคล้ายไข้เดงกี แต่ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงมีการช็อก

การติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาเดิมมีรกรากอยู่ในทวีปแอฟริกา ผู้บรรยายลักษณะของโรคชิคุนกุนยาเป็นคนแรก คือ Marion Robinson และ W.H.R. Lumsden ในปี ค.ศ. 1955 ซึ่งก่อนหน้านั้นสามปีเกิดมีการระบาดของโรคในดินแดนที่ราบสูงมากอนดี พรมแดนระหว่างประเทศโมแซมบิก และแทนซาเนียในปัจจุบัน จากนั้นก็พบการระบาดของเชื้อชิคุนกุนยาเป็นครั้งคราวในทวีปแอฟริกา เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทวีปแอฟริกา
ในทวีปแอฟริกามีหลายประเทศพบเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา โดยมีการแพร่เชื้อ 2 วงจร คือ ชนิดวงจรชนบท คน-ยุง-ลิง ซึ่งมีลิงบาร์บูน เป็นโฮสต์ และอาจทำให้มีผู้ป่วยจากเชื้อนี้ประปราย หรืออาจมีการระบาดเล็กๆ ได้เป็นครั้งคราว เมื่อมีผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันเข้าไปในพื้นที่ที่มีเชื้อนี้อยู่ และคนอาจนำมาสู่ชุมชนเมือง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มียุงลายชุกชุมมาก ทำให้เกิดวงจรในเมือง คน-ยุง จากคนไปคน โดยยุงลายเป็นพาหะ

ทวีปเอเชีย
การแพร่เชื้อชิคุนกุนยาในทวีปเอเชียต่างจากในแอฟริกา การเกิดโรคเป็นชนิดวงจรในเมืองจากคนไปคน โดยมียุงลายเป็นพาหะที่สำคัญ ระบาดวิทยาของโรคมีรูปแบบคล้ายคลึงกับโรคติดเชื้อที่นำโดยยุงลายอื่นๆ ซึ่งอุบัติการของโรคเป็นไปตามการแพร่กระจาย และความชุกชุมของยุงลาย หลังจากที่ตรวจพบครั้งแรกในประเทศไทย ก็มีรายงานจากประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย ได้แก่ เขมร เวียตนาม พม่า ศรีลังกา อินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

การระบาดครั้งแรกในประเทศอินเดียเกิดขึ้นที่เมืองกัลกัตตาเมื่อปี ค.ศ. 1963 จากนั้นพบการระบาดเป็นครั้งคราว จนกระทั่งในปี 2005-2006 พบการระบาดใหญ่ที่หมู่เกาะทางตอนใต้ของอินเดีย มีผู้เสียชีวิต 237 ราย และประชากรหนึ่งในสามติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2006 พบการระบาดของไวรัสชิคุนกุนยาในประเทศปากีสถาน

การระบาดในประเทศสิงคโปร์เกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2008 รายงานผู้ป่วย 10 ราย ทางการสิงคโปร์ได้ออกมาตราการเฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิด

ข้อมูลจนถึงเดือนกันยายน ค.ศ. 2008 ในประเทศมาเลเซีย พบผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยา 1,975 ราย กว่าครึ่งอาศัยอยู่ในรัฐยะโฮร์ โดยก่อนหน้านั้นพบการระบาดเพียงเล็กน้อยในกี่ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มาจากประเทศอินเดีย และคนมาลาเซียที่เดินทางไปท่องเที่ยวประเทศอินเดีย

ประเทศไทย
ในประเทศไทยมีการตรวจพบครั้งแรกพร้อมกับที่มีไข้เลือดออกระบาด และเป็นครั้งแรกในทวีปเอเชีย เมื่อปี พ.ศ. 2501 โดยแยกเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาได้จากผู้ป่วยโรงพยาบาลเด็ก กรุงเทพมหานคร

โรคชิคุนกุนยาจะพบมากในฤดูฝน เมื่อประชากรยุงเพิ่มขึ้น และมีการติดเชื้อในยุงลายมากขึ้น พบโรคนี้ได้ในทุกกลุ่มอายุ ซึ่งต่างจากไข้เลือดออก และหัดเยอรมันที่ส่วนมากพบในผู้อายุน้อยกว่า 15 ปี

ในประเทศไทยพบมีการระบาดของโรคชิคุนกุนยา 7 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2531 ที่จังหวัดสุรินทร์ พ.ศ. 2534 ที่จังหวัดขอนแก่น และปราจีนบุรี ในปี พ.ศ. 2536 มีการระบาด 3 ครั้งที่จังหวัดเลย นครศรีธรรมราช และหนองคาย การแพร่ระบาดของโรคชิคุนกุนยาในปี 2551 พบที่จังหวัดนราธิวาส รายงานผู้ป่วยที่ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 ถึงวันที่ 12 ตุลาคม 2551 พบรายงานผู้ป่วยรวมทั้งหมด 170 ราย ใน 2 จังหวัด คือนราธิวาส ใน 3 อำเภอ ได้แก่ ยี่งอ 99 ราย เจาะไอร้อง 9 ราย และ อ.แว้ง 44 ราย และพบที่ อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี จำนวน 18 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต

สำหรับในปีนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคชิคุนกุนยาในจังหวัดพัทลุง รายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2552 พบผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยาแล้ว 33 คน โดยสำรวจพบผู้ป่วยครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือระหว่าง 25-34 ปี อาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือกลุ่มเกษตรกร นักเรียน นักศึกษา และอาชีพรับจ้าง อำเภอที่พบผู้ป่วยมากสุดคืออำเภอป่าพะยอม อำเภอกงหรา อำเภอเขาชัยสน และอำเภอเมือง ตามลำดับ โดยผู้ป่วยทั้งหมดได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลอำเภอนั้น ผู้ป่วยทุกรายอยู่ในอาการปลอดภัย พบว่าอัตราการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้นหลังมีผู้ป่วยเดินทางกลับจากรับจ้างกรีดยางพาราจากจังหวัดใกล้เคียง

สาเหตุ
เกิดจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา ซึ่งเป็น RNA Virus จัดอยู่ใน genus alphavirus และ family Togaviridae ไวรัสชิคุนกุนยามีความใกล้ชิดกับ O’nyong’nyong virus และ Ross River virus ที่พบในประเทศออสเตรเลีย รวมทั้งไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคไข้สมองอักเสบ eastern equine encephalitis และ western equine encephalitis
เชื้อไวรัสชิคุนกุนยาติดต่อกันได้โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ เมื่อยุงลายตัวเมียกัด และดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้สูง ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือด เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุง และเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัด ทำให้คนนั้นเกิดอาการของโรคได้

ระยะฟักตัวของโรคโดยทั่วไปประมาณ 1-12 วัน แต่ที่พบบ่อยประมาณ 2-3 วัน

ระยะติดต่อเป็นช่วงระยะเวลาที่ผู้ป่วยไข้สูง ประมาณวันที่ 2 – 4 เนื่องจากเป็นระยะที่มีเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาอยู่ในกระแสเลือดมากที่สุด

ที่มาของชื่อไวรัส
ชื่อของเชื้อไวรัสชิคุนกุนยามาจากคำในภาษา Makonde ซึ่งเป็นภาษาของชนพื้นเมืองในแอฟริกา อาศัยอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศแทนซาเนีย และทางตอนเหนือของประเทศโมแซมบิก รากศัพท์พื้นเมืองเดิมเรียกว่า kungunvala ซึ่งมีความหมายเป็นภาษาอังกฤษว่า "that which bends up" สอดคล้องกับลักษณะอาการปวดข้อของโรค

อาการของโรค
ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย และอาจมีอาการคันร่วมด้วย พบตาแดง แต่ไม่ค่อยพบจุดเลือดออกในตาขาว ส่วนใหญ่แล้วในเด็กจะมีอาการไม่รุนแรงเท่าในผู้ใหญ่

ในผู้ใหญ่อาการที่เด่นชัดคืออาการปวดข้อ ซึ่งอาจพบข้ออักเสบได้ ส่วนใหญ่จะเป็นที่ข้อเล็กๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า

อาการปวดข้อจะพบได้หลายๆ ข้อเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ อาการจะรุนแรงมากจนบางครั้งขยับข้อไม่ได้ อาการจะหายภายใน 1-12 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อเกิดขึ้นได้อีกภายใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา และบางรายอาการปวดข้อจะอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี

ไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงช็อก ซึ่งแตกต่างจากโรคไข้เลือดออก อาจพบ tourniquet test ให้ผลบวก และจุดเลือดออกบริเวณผิวหนังได้

ความแตกต่างระหว่างโรคไข้เลือดออกเดงกีกับโรคชิคุนกุนยา

ในโรคชิคุนกุนยา ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างฉับพลันกว่าในโรคไข้เลือดออกเดงกี ผู้ป่วยมักจะมาโรงพยาบาลเร็วกว่า ส่วนระยะของไข้สั้นกว่าในโรคไข้เลือดออกเดงกี ผู้ป่วยที่มีระยะไข้สั้นเพียง 2 วัน พบในโรคชิคุนกุนยาได้บ่อยกว่าในโรคไข้เลือดออกเดงกีโดยส่วนใหญ่ไข้ลงใน 4 วัน ถึงแม้จะพบจุดเลือดได้ที่ผิวหนัง และการทดสอบทูนิเกต์ให้ผลบวกได้ แต่ส่วนใหญ่จะพบจำนวนทั้งที่เกิดเองและจากทดสอบน้อยกว่าในโรคไข้เลือดออกเดงกี

ไม่พบผื่นเลือดออกที่มีลักษณะวงขาวๆในโรคชิคุนกุนยา แต่พบผื่นแบบผื่นแดงนูนราบ และพบอาการตาแดงในโรคชิคุนกุนยาได้บ่อยกว่าในโรคไข้เลือดออกเดงกี

พบอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและปวดข้อในโรคชิคุนกุนยาได้บ่อยกว่าในโรคไข้เลือดออกเดงกี

ในโรคชิคุนกุนยา เนื่องจากไข้สูงฉับพลัน พบการชักร่วมกับไข้สูงได้ถึงร้อยละ 10-15

การวินิจฉัย

มีไข้สูง เกิดผื่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูกหรือข้อ ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา เลือดออกตามผิวหนัง

ตรวจนับเม็ดเลือดพบว่ามีจำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำ และเกล็ดเลือดปกติ ซึ่งสามารถแยกจากไข้เดงกีได้

ตรวจพบแอนติบอดีจำเพาะต่อเชื้อในเลือดจากการตรวจปฏิกิริยาน้ำเหลืองสองครั้งด้วยวิธี Haemagglutination Inhibition (HI) โดยระดับแอนติบอดีเพิ่มขึ้น 4 เท่า ถ้าตรวจ

เลือดครั้งเดียว ต้องพบระดับแอนติบอดีมากกว่า 1 : 1,280 หรือตรวจพบภูมิคุ้มกันชนิด IgM โดยวิธี ELISA

ตรวจพบเชื้อได้จากเลือด โดยวิธี PCR หรือโดยการแยกเชื้อ

การวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ
การแยกเชื้อไวรัสจากซีรั่ม เก็บตัวอย่างเลือดโดยเจาะจากเส้นเลือดดำที่แขนประมาณ 5 มิลลิลิตร ใส่ในหลอดที่ปราศจากเชื้อ ทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องประมาณ 15 – 30 นาที แช่น้ำแข็ง หรือเก็บไว้ในตู้เย็นธรรมดา ห้ามแช่แข็ง นำส่งห้องปฏิบัติการภายใน 24 ชั่วโมง หรือในกรณีที่มีตู้แช่แข็ง -70 องศาเซลเซียส หรือไนโตรเจนเหลว หรือน้ำแข็งแห้ง สามารถแยกซีรัมจากก้อนเลือดที่แข็งตัวเก็บไว้เพื่อนำส่งห้องปฏิบัติการภายหลัง โดยนำส่งในน้ำแข็งแห้ง หรือไนโตรเจนเหลว ภายใน 2 – 3 วัน

การตรวจทางน้ำเหลืองมีการตรวจหลายวิธี เช่น ELISA, Haemagglutination–inhibition test น้ำเหลืองประมาณ 1 – 2 มิลลิลิตร เก็บ 2 ครั้ง ห่างกัน 7-14 วัน ครั้งที่ 1 ในวันที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษา ครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งที่ 1 ประมาณ 7-14 วัน เก็บตัวอย่างโดยเจาะเลือดจากหลอดเลือดดำประมาณ 3-5 มิลลิลิตร ใส่หลอดแก้วที่ปลอดเชื้อ ปั่นแยกเฉพาะน้ำเหลืองใส่ในหลอดที่ปลอดเชื้อ ปิดจุก และพันด้วยพาราฟิล์มหรือเทปให้แน่น ปิดฉลากเขียนชื่อนามสกุลผู้ป่วย วันที่เจาะเก็บเลือด และการตรวจทางน้ำเหลืองวิทยาที่ต้องการ จากนั้นเก็บน้ำเหลืองดังกล่าวไว้ที่ 4 องศาเซลเซียส หรือในช่องแช่แข็งของตู้เย็นรอจนได้ตัวอย่างที่ 2 แล้วจึงส่งพร้อมกัน

ข้อแนะนำวิธีการเก็บและการส่งตัวอย่างตรวจโรคไข้ปวดข้อออกผื่นชิคุนกุนยา
เจาะเลือดครั้งที่หนึ่ง ในวันที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษา และเจาะเลือดครั้งที่สอง ห่างจากครั้งแรก 7-14 วัน

วิธีการเก็บน้ำเหลืองจากหลอดเลือดดำ โดยเจาะเลือดจากหลอดเลือดดำประมาณ 3 - 5 มล. ใส่หลอดแก้วที่ปลอดเชื้อปั่นแยกเฉพาะน้ำเหลืองใส่ในหลอดที่ปลอดเชื้อ ปิดจุกและพันด้วยพาราฟิล์มหรือเทปให้แน่น ปิดฉลากเขียนชื่อนามสกุลผู้ป่วย วันที่เจาะเก็บเลือด และระบุการตรวจทางน้ำเหลืองวิทยาที่ต้องการ จากนั้นเก็บน้ำเหลืองดังกล่าวไว้ ในช่องแช่แข็งของตู้เย็นรอจนได้ตัวอย่างที่ 2 แล้วจึงส่งพร้อมกัน

วิธีการเก็บตัวอย่าง โดยใช้กระดาษซับเลือดมาตรฐาน โดยเจาะเลือดจากปลายนิ้วแตะเลือดบนกระดาษซับเลือด หรือถ้าเจาะเลือดเพื่อการอื่นอยู่แล้วก็หยดเลือดลงบนกระดาษให้เลือดซึมจนชุ่มทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ทิ้งไว้ให้แห้งที่อุณหภูมิห้อง กระดาษที่ซับเลือดแล้วอย่าให้ถูกแดด หรือเก็บในที่ร้อน และไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 1 เดือน

ข้อจำกัดในการเก็บตัวอย่างด้วยกระดาษซับเลือดมาตรฐาน ได้แก่ กระดาษซับเลือดมีราคาสูง ประมาณแผ่นละ 10 บาท การเก็บกระดาษที่ซับแล้วไว้นานเกินหนึ่งเดือน จะมีผลให้ปริมาณแอนติบอดีลดลง ซึ่งอาจทำให้ผลการตรวจผิดพลาดได้ นอกจากนี้ยังไม่สามารถสกัดเลือดที่ถูกซับในกระดาษออกมาได้ และไม่สามารถตรวจซ้ำได้ในรายงานที่ให้ผลกำกวม เนื่องจากน้ำเหลืองที่สกัดจากระดาษซับเลือดมีปริมาณน้อย

การรักษา
ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่จำเพาะเจาะจงสำหรับโรคชิคุนกุนยา ส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการและประคับประคอง เช่น ยาลดอาการไข้ ปวดข้อ และการพักผ่อน ผลการศึกษาวิจัยในระยะหลังพบว่า ยาคลอโรควิน (chloroquin) ได้ผลดีในการบรรเทาอาการที่เกิดจากโรคชิคุนกุนยา และมีคุณสมบัติต้านไวรัสชิคุนกุนยาได้อีกด้วย งานวิจัยที่มหาวิทยาลัยมาลายา ประเทศมาเลเซีย ใช้ยาคลอโรควินขนาดวันละ 250 มิลลิกรัม พบว่าได้ผลดีมาก เช่นเดียวกับงานวิจัยที่อิตาลีและฝรั่งเศสเมื่อปี 2006 ซึ่งพบว่าการรักษาด้วยยาคลอโรควินได้ผลดีเช่นกัน

การป้องกัน
การป้องกันโรคชิคุนกุนยาที่ดีที่สุดคือ ป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด ไม่ว่าจะเป็นการใช้สารไล่ยุง DEET, icaridin, PMD หรือ IR3535 สวมใส่เสื้อผ้าที่ป้องกันไม่ให้ยุงกัด ยาทากันยุงชนิดที่มีส่วนผสมของไพรีธรอยด์ช่วยป้องกันได้พอสมควร หรือฉีดวัคซีน

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับไวรัสชิคุนกุนยาที่มีประสิทธิภาพ การวิจัยเมื่อปี 2000 พบว่าวัคซีนที่ทำการวิจัยไม่ได้ผล พบว่าเชื้อชิคุนกุนยาเกิดภาวะต้านวัคซีนมาถึงร้อยละ 98 ภายหลังได้รับวัคซีน 28 วัน วัคซีนดีเอ็นเอเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่นำมาศึกษาการผลิตวัคซีนสำหรับเชื้อชิคุนกุนยา โดยออกแบบเป็นวัคซีนชนิดผสม ใช้ลำดับสารพันธุกรรมของเปลือกหุ้มตัวไวรัสมาเป็นสารกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี ในเบื้องต้นพบว่าได้ผลดีมากในหนูทดลองทั้งระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น และสามารถกระตุ้นการทำหน้าที่ของเม็ดเลือดขาวชนิด T-cell ได้เป็นอย่างดี

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
[ ... ]

ภัยผิวที่แฝงมากับฤดูฝน

ด้วยสภาพอากาศที่ฝนตกชุก ภาวะหนึ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากเมื่อฝนตกคือมักเจอกับอากาศที่อับชื้น ทำให้บางครั้งอาจเกิดผื่นแปลกๆ ขึ้นบนผิวหนังได้ ปัญหาที่พบได้เสมอในช่วงหน้าฝนมักมีสาเหตุมาจากเชื้อรา เนื่องจากลักษณะเฉพาะของเชื้อโรคกลุ่มนี้ที่เจริญเติบโตได้ดีในภาวะที่ชื้นแฉะ ผื่นจากเชื้อรามีได้หลากหลายรูปแบบ เรามาดูผื่นที่พบได้บ่อยๆ กันดีกว่า

วงด่างๆ สีขาวหรือสีเนื้อ ในบางคนอาจขึ้นเป็นวงสีน้ำตาล ร่วมกับมีขุยสีขาวเล็กๆ มักเกิดขึ้นบนผิวหนังบริเวณหน้าอกและลำตัว อาจมีอาการคันร่วมด้วยได้ นอกจากดูไม่สวยงามแล้วยังทำให้เสียบุคลิก ผื่นชนิดนี้เป็นลักษณะของโรคเกลื้อน ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กและวัยรุ่นที่สุขอนามัยไม่ค่อยดี ไม่ชอบอาบน้ำ เชื้อเกลื้อนเป็นเชื้อราชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Malassezia furfur สามารถพบได้บนผิวหนังของคนทั่วไป แต่ปกติแล้วไม่ก่อโรค ยกเว้นในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น คนที่ออกกำลังกาย เหงื่อออก หรือตากฝน แล้วไม่ยอมอาบน้ำ ร่างกายชื้นแฉะอยู่เป็นเวลานาน ทำให้เชื้อเพิ่มจำนวนจนทำให้เกิดผื่นลักษณะดังกล่าวขึ้น

ในคนที่น้ำหนักมาก หรือภูมิคุ้มกันไม่ค่อยดี เช่น ผู้ที่เป็นเบาหวาน อาจเกิดผื่นสีแดงขึ้นตามบริเวณข้อพับ เช่น รักแร้ ขาหนีบ หรือใต้ราวนม ร่วมกับมีอาการคันมาก สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อยีสต์ในกลุ่มแคนดิดา (Candida) สามารถรักษาให้หายได้โดยการทายาฆ่าเชื้อราทั่วไป แต่มักเป็นซ้ำได้บ่อย เพราะยีสต์ชนิดนี้พบได้ในร่างกายของคนเรา เช่น บริเวณช่องปาก ระบบทางเดินอาหาร และช่องคลอด

ช่วงที่ฝนตกมากๆ บางพื้นที่อาจมีน้ำท่วมขัง หรือเวลาฝนตกนานเป็นชั่วโมงๆ ทำให้ต้องเดินย่ำน้ำชื้นแฉะเป็นเวลานานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหากยังไม่รีบทำความสะอาดเท้า ผ่านไปสักระยะหนึ่งอาจพบว่าผิวตามซอกนิ้วเท้าลอกเป็นขุยขาวๆ หรือเปียกยุ่ย หรืออาจถึงขั้นเป็นแผล มีน้ำเหลืองแฉะที่ผิว เรียกว่าโรคน้ำกัดเท้าหรือเชื้อราที่เท้า เกิดจากเชื้อกลากซึ่งอยู่ตามสิ่งแวดล้อม เช่น หิน ดิน ทราย รวมทั้งในสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขและแมว ผื่นที่เท้าอาจจะลามไปที่ลำตัวส่วนอื่นได้ ที่พบบ่อยคือทำให้เกิดผื่นบริเวณขาหนีบ เรียกว่า สังคัง

เวลาถอดรองเท้า บางคนอาจมีกลิ่นเหม็นโชยออกมา เมื่อก้มดูที่ฝ่าเท้าจะเห็นเป็นรูพรุนเล็กๆ หรือเป็นแอ่งเว้าแหว่งตื้นๆ เรียกว่า โรคเท้าเหม็น สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง มักพบในผู้ชายที่ใส่ถุงเท้าที่ทำจากใยสังเคราะห์หนาๆ ซึ่งมักจะแห้งยากในหน้าฝน

นอกจากนี้ ในน้ำที่ขังตามพื้นถนนอาจมีพยาธิบางชนิด เช่น พยาธิปากขอซึ่งสามารถชอนไชเข้าสู่ผิวหนังได้โดยตรง ทำให้เกิดโรคโลหิตจางได้ หรือ ถ้าโชคไม่ดี ได้รับเชื้อที่ทำให้เกิดโรคฉี่หนูเข้าไปตามรอยแผลเล็กๆ ที่เท้า อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

โดยสรุปแล้ว ถ้าสังเกตให้ดี จะเห็นว่าสาเหตุของโรคส่วนใหญ่มาจากการย่ำน้ำสกปรก หรือปล่อยให้ผิวหนังอับชื้นอยู่เป็นระยะเวลานาน ทำให้เชื้อซึ่งพบได้ตามสิ่งแวดล้อมทั่วไปเพิ่มจำนวนขึ้นจนก่อให้เกิดโรค ดังนั้นการป้องกันอันดับแรกคือหลีกเลี่ยงการเหยียบย่ำน้ำ หรือตากฝน ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อกลับถึงที่พัก ควรรีบถอดเสื้อผ้า แล้วอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย โดยใช้สบู่หรือสารทำความสะอาดทั่วไป ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อชนิดพิเศษแต่อย่างใดเพราะอาจแรงเกินไป เสร็จแล้วใช้ผ้าซับหรือใช้พัดลมเป่าให้แห้ง การโรยแป้งฝุ่นสามารถช่วยลดความชื้นและการเสียดสีได้ เสื้อผ้าและถุงเท้าที่ใช้ ควรทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้ายที่ไม่หนาจนเกินไปเพื่อให้ระบายอากาศได้ดี หน้าฝนผ้ายีนส์จะแห้งยากทำให้เกิดความอับชื้นได้ง่ายจึงควรระวังเป็นพิเศษ นอกจากนี้แล้วการใส่รองเท้าแตะบ้างก็ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อราที่เท้าได้เช่นกัน


ข้อมูลโดย นพ.ชัยประสิทธิ์ บาลมงคล ศูนย์ผิวหนัง เลเซอร์และความงาม โรงพยาบาลเวชธานี
[ ... ]

Saturday, February 6, 2010

ดร.โอ๋ โชว์เมนูสลัดแคลอรีต่ำ

[ ... ]

โรคพาร์กินสัน

โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) หลายคนคงสงสัยว่า โรคนี่คือโรคอะไร ถ้าสังเกตให้ดี เมื่อเดินไปตามท้องถนน อาจจะพบคนที่เดินตัวเกร็งๆ มือสั่นๆ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า สันนิบาตลูกนก

แต่ที่เห็นเดินกันตามท้องถนนนั้น ยังถือว่า เป็นไม่มาก เพราะผู้ป่วยยังสามารถเดินได้ แต่ 15% ผู้ป่วยที่เป็นโรคพาร์กินสันจะมีอาการมากจนไม่สามารถเดินออกไปนอกบ้านได้ ด้วยเหตุที่เกร็งมากจนก้าวไม่ออก หรือกินยาแล้วไม่ตอบสนอง แต่กลับทำให้มีกล้ามเนื้อขยับผิดปกติ
ในอดีตคนไทยน้อยคนนักจะรู้จักโรคนี้ ในยุคปัจจุบัน คนไทยมีอายุเฉลี่ยยืนยาวกว่าเดิมมาก คือผู้ชายอายุเฉลี่ยถึง 63 ปี ส่วนผู้หญิงอายุเฉลี่ย 64 ปี (อดีตคนไทยเราอายุเฉลี่ยเพียง 45 ปี) ดังนั้นโรคในผู้สูงอายุจึงพบบ่อยขึ้นในคนไทยเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคทางระบบประสาทที่มีชื่อเรียกว่า โรคพาร์กินสัน โรคนี้ส่วนมากจะพบในผู้สูงอายุ (อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป) โดยมี

อาการทางระบบประสาทที่เด่นชัด 3 ประการ ได้แก่
1.อาการสั่น
2.อาการเกร็ง
3.อาการเคลื่อนไหวช้า

สาเหตุ
1.ความชราภาพของสมอง
2.รับประทานยาทางด้านจิตเวช/ยารักษาอาการเวียนศีรษะ
3.อุบัติเหตุศีรษะถูกกระทบกระเทือน
4.อาการของหลอดเลือดในสมองอุดตัน
5.การโดนสารพิษที่ทำลายสมอง
6.การเกิดภาวะสมองขาดออกซิเจน
7.โรคพันธุกรรม

อาการทางระบบประสาทที่เด่นชัด 4 ประการ ได้แก่
1.อาการสั่น
2.อาการเกร็ง
3.อาการเคลื่อนไหวช้า
4.การสูญเสียการทรงตัว

ในอดีต โรคนี้รักษาไม่ได้ และอาการของผู้ป่วยจะเป็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเคลื่อนไหวไม่ได้ ต้องนอนอยู่กับเตียงตลอด ในที่สุดก็จะเสียชีวิตเพราะโรคแทรกซ้อน แต่ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้สามารถรักษาโรคนี้ได้อย่างดี และสามารถทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นมาก
โรคนี้เกิดที่บริเวณตัวสมอง ในส่วนลึกๆ ซึ่งมีกลุ่มเซลล์ประสาทที่มีสีดำ มีจำนวนลดลง หรือบกพร่องในการปล่อยสารเคมีที่เรียกว่า โดปามีน จึงทำให้เกิดการเคลื่อนไหวช้า เกร็ง และสั่น เกิดขึ้นตามลำดับ ดังนั้นในปัจจุบันการรักษาโรคนี้ จึงมุ่งให้สมองมีระดับโดปามีนกลับสู่ค่าปกติ ซึ่งทำได้โดยการรับประทานยาหรือผ่าตัดสมอง

นวัตกรรมในการรักษา
1.รักษาทางยา รับประทานยาต่อเนื่องจนกว่าอาการจะดีขึ้น
2.การรักษาทางกายภาพบำบัด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างถูกต้อง ป้องกันการหกล้ม กระดูกหัก
3.การรักษาโดยการผ่าตัด การฝังเครื่องกระตุ้นสมองที่เรียกว่า Deep Brain Stimulation (DBS) ถือได้ว่าเป็นวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ทันสมัยที่สุดในขณะนี้ หลักการทำงานของ Deep Brain Stimulation (DBS) คือ อาศัยพลังงานจากแบตเตอรี่ขนาดเล็ก ปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าไปกระตุ้นสมองส่วนที่ทำงานผิดปกติด้วยความถี่สูงเพื่อยับยั้งการทำงานของสมองส่วนนั้นๆ การรักษาด้วยวิธีนี้ ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นทันทีหลังจากได้รับการผ่าตัด และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

ที่มา : ศูนย์สมองและระบบประสาทกรุงเทพ
โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร.1719
[ ... ]

แพ้ลิปสติก

ผู้ที่มีอาการแพ้ลิปสติก จะมีอาการแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าแพ้มากหรือแพ้น้อย หากแพ้น้อยอาจจะมีอาการเพียงริมฝีปากแห้งคัน แต่หากแพ้มาก อาจเกิดอาการริมฝีปากอักเสบ บวมหรือหายใจไม่ออก เมื่อมีอาการแพ้ต้องหยุดใช้ลิปสติกแท่งนั้นทันที แล้วเปลี่ยนไปใช้ลิปสติกชนิดอื่นแทน เช่น ใช้ลิปสติกชนิดที่ไม่มีน้ำหอม

การแพ้เครื่องสำอางนั้นส่วนใหญ่เป็นไปเฉพาะแต่ละบุคคล ฉะนั้นบางคนอาจแพ้ แต่บางคนไม่แพ้ สำหรับลิปสติกพบว่ามี 1 ใน 5 ล้านคน ที่มีอาการแพ้ลิปสติกโดยธรรมชาติ อย่างไรก็ตามการใช้ลิปสติกทาบนริมฝีปากซึ่งเป็นเนื้อเยื่ออ่อน วันละหลายครั้ง และสัมผัสริมฝีปากเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการแพ้ได้ง่ายกว่าผิวหนังบริเวณอื่น

การแพ้ลิปสติกนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากสารปนเปื้อนในน้ำหอมและสี แต่แนวโน้มการแพ้ลิปสติกได้ลดลงมาเป็นลำดับ ทั้งนี้เนื่องจากผู้ผลิตใช้วัตถุดิบที่บริสุทธิ์ขึ้น มีสารปนเปื้อนน้อยในการผลิตลิปสติก นอกจากนี้การทาลิปสติกโดยใช้นิ้วมือ อาจทำให้เกิดติดเชื้อที่ริมฝีปากได้

สาเหตุของการแพ้ลิปสติก
น้ำหอมในลิปสติก อาจมีสารบางชนิดกระตุ้นให้เกิดการแพ้
สีในลิปสติก อาจมีสารปนเปื้อน ทำให้แพ้ได้ และสีบางชนิดทำให้ริมฝีปากไวต่อแสงแดด
ลิปสติกที่มีไขมันและน้ำมันน้อย อาจทำให้ริมฝีปากแห้งแตกทำให้แพ้ง่าย
สารตัวเติมอื่นๆ บางตัวมีฤทธิ์เป็นตัวเร่งการแพ้

ลิปสติก เป็นเครื่องสำอางที่ใช้แต่งริมฝีปาก เพื่อให้ความชุ่มชื้น ทำให้ริมฝีปากสวยงามและปกปิดความบกพร่องของริมฝีปาก หากลิปสติกมีส่วนผสมของสารต้องห้าม เช่น สารนิเกิล โลหะ หรือสารตะกั่ว ซึ่งจะอยู่ในสีที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ก็จะก่อให้เกิดอาการระคายเคืองอย่างรุนแรง เกิดพิษรุนแรง และพิษดูดซึมเข้าระบบทางเดินอาหาร ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่ามัว หรือทำให้ริมฝีปากปากปวดแสบปวดร้อน คัน เห่อแดง บวม หรือลอกเป็นขุย

แม้จะเป็นลิปสติกที่ได้มาตรฐานทั่วไป แต่การใช้ลิปสติกทาบนริมฝีปาก ซึ่งเป็นเนื้อเยื่ออ่อนวันละหลายครั้ง และสัมผัสริมฝีปากเป็นเวลานานๆ ก็อาจทำให้เกิดการแพ้ได้ง่ายกว่าผิวหนังบริเวณอื่น โดยสาเหตุของการแพ้นั้น มาจากน้ำหอมที่เป็นส่วนผสมในลิปสติก หรืออาจมีสารบางชนิดกระตุ้นให้เกิดการแพ้

สีในลิปสติกบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับแสงแดด ทำให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบ ส่วนลิปสติกที่มีไขมันและน้ำมันน้อย อาจทำให้ริมฝีปากแห้งแตก ทำให้แพ้ง่าย เป็นต้น โดยระยะในการแพ้จะอยู่ในช่วง 7-10 วัน ที่ผ่านมาพบว่าสีลิปสติกที่ทำให้ผู้ใช้แพ้มากที่สุด ได้แก่ กลุ่มที่ให้สีสด คือ สีส้ม ชมพู และสีแดง แต่การแพ้นั้นไม่ได้เกิดทุกคน

ปัจจุบันลิปสติกถูกออกแบบมาให้เราเลือกใช้มากมายหลายแบบ ทั้งแบบเนื้อครีมมันแวววาว แบบเนื้อด้าน และอีกหลายแบบมากมาย เวลาเลือกซื้อลิปสติก ควรลองทาจริงบนริมฝีปากก่อน นอกจากทดสอบความเนียนละเอียดของเนื้อลิปสติกแล้ว สีสันของลิปสติกที่เห็นตามเคาน์เตอร์นั้น จะไม่ใช่สีจริงที่จะได้เห็นบนริมฝีปากจริง เวลาทดลองสีลิปสติก ควรดูว่าสีสันที่ปรากฏนั้นเป็นที่พอใจหรือยัง ควรทดลองดมกลิ่นของลิปสติกด้วยว่า เป็นกลิ่นที่รับได้หรือไม่ เพราะลิปสติกแต่ละยี่ห้อจะมีกลิ่นไม่เหมือนกัน ต้องมั่นใจว่า เมื่อทาลิปสติกลงบนริมฝีปากแล้ว จะไม่สร้างความรำคาญให้เกิดขึ้น
บางคนนิยมเลือกเลือกลิปสติกชนิดที่มี moisture เพื่อปกป้องให้ริมฝีปากมีความชุ่มชื่นอยู่เสมอ ส่วนใหญ่จะเลือกเฉดสีให้เหมาะสมกับ eye shadow และ brush ลิปสติกเป็นเครื่องสำอางที่มีสีสันให้เลือกมากที่สุด แต่โดยปกติแล้ว ผู้หญิงจะมีสีลิปสติกที่ถูกใจอยู่เพียงไม่กี่สี อาจนำสีลิปสติกที่มีอยู่แล้ว นำมาผสมกัน กลายเป็นสีใหม่ได้

ลักษณะลิปสติกที่ดี
มีเนื้อเรียบ นุ่มนวล มีความชุ่มชื้น และความมันพอเหมาะ ไม่มีเหงื่อแตกร่วน หรือแข็งเป็นก้อน คงสภาพทั้งเมื่อเก็บไว้และขณะใช้ ทนต่อสภาวะต่างๆ ได้ดี หลอมละลายได้ทันทีเมื่อสัมผัสกับริมฝีปาก ไม่มีอันตรายต่อผิวหนังให้สีติดทน แต่สามารถล้างออกได้ง่ายเมื่อต้องการ กลิ่นดี

ลิปสติกให้ความแวววาวบนริมฝีปาก (Shine-on Lipstick)
พบว่ามีการใช้สาร PPG-3 benzyl ether myristate กับส่วนผสมสารอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติให้ความชุ่มชื้น (emollients) เป็น silicone ซึ่งเป็นโครงสร้างเหมือน ester และมีคุณสมบัติให้ความมันเป็นประกายแวววาว มีการใช้ร่วมกับ castor oil, Di-PPG-3 myristyl ether adipate และ wax หลายๆ ชนิด

สีที่นิยมใช้ได้แก่ D&C Red 7 Ca Lake, D&C Red 6 Ba Lake, Cosmetic Russet Iron Oxide, Titanium Dioxide, FD&C Yellow 5 Lake, Mica, Iron Oxides antioxidant ที่ใช้คือ ascorbyl palmitate

ลิปมันหรือลิปกลอส
ลิปกลอสเป็นลิปสติกไม่มีสี หรือสีอ่อนมาก ใช้ป้องกันริมฝีปากแห้งแตก เพื่อให้เกิดความมัน นุ่มเนียน ปกติวัยรุ่นมักจะมีริมฝีปากเป็นสีที่เป็นธรรมชาติสวยอยู่แล้ว เพราะเป็นวัยที่มีสุขภาพดี การดูแลความสะอาดริมฝีปาก และทาลิปมันหรือลิปกลอสเพื่อให้ความชุ่มชื้นจึงเพียงพอแล้ว และหากมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะยิ่งช่วยให้ระบบการสูบฉีดเลือดในร่างกายดี ทำให้ปากและแก้มเป็นสีชมพูตามธรรมชาติยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ควรเลือกกินอาหารที่มีสารอาหารและวิตามินครบถ้วน ดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้ปากชุ่มชื้น หากต้องการจะใช้เครื่องสำอาง ควรเลือกเครื่องสำอางที่มีคุณภาพเชื่อถือได้ มีการรับรองมาตรฐานถูกต้อง และควรสังเกตอาการแพ้ด้วย เพราะมีโอกาสเกิดขึ้นได้

ทินต์ (tint)
เครื่องสำอางที่กำลังฮิตในหมู่วัยรุ่นไทยขณะนี้คือ เจลสี ที่วัยรุ่นเรียกว่า ทินต์ (tint) เพื่อให้ปากมีสีอมชมพูระเรื่อ หรือออกโทนส้มอ่อน ดูแล้วจะให้ความรู้สึกว่าเป็นคนมีสุขภาพดี มีเลือดฝาดดี มีความสวยเป็นธรรมชาติ และทาลิปกลอสทับ เพิ่มความมันวาวหรือเพิ่มความเซ็กซี่ ปัจจุบันมีผู้ผลิตออกมาจำหน่ายหลากหลายยี่ห้อ วางขายตั้งแต่ห้างร้านราคาแพงลงไปถึงตามตลาดนัดราคาถูก

การใช้ทินต์แตกต่างจากลิปสติกทั่วไปซึ่งมักจะทาที่ริมฝีปาก แต่การใช้ทินท์จะใช้วิธีป้ายเข้าไปในริมฝีปากด้านในทั้งบน และล่าง ซึ่งเป็นเยื่อบุที่บอบบาง หากเป็นสีที่ไม่ใช่สีที่ใช้ผสมอาหาร เป็นสีต้องห้ามอันตราย หรือสีไม่ได้มาตรฐาน สารที่อยู่ในสีก็จะซึมเข้าไปตามเยื่อบุปาก และถูกกลืนกินเข้าไปในร่างกายได้ง่าย ทำให้มีความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ

ผลทดสอบทางห้องปฏิบัติการพบว่า สามารถก่อมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ การเลือกใช้จึงต้องพิถีพิถันในเรื่องคุณภาพเป็นพิเศษ

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
[ ... ]

ตัดวงจรเครียด...ก่อนระเบิด

นพ.ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย จิตแพทย์โรงพยาบาลมนารมย์ กล่าวว่า ปัญหาต่อตนเองที่เกิดจากความเครียดเป็นไปได้ทั้งการเจ็บป่วยทางกายและทางใจ ความเครียดสามารถส่งผลต่อการเจ็บป่วยทางกายได้ทุกระบบ และมีผลแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล เพราะจุดอ่อนในร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนมีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม อ่อนเพลีย ปวดหลัง ปวดข้อ ปวดท้อง โรคกระเพาะ โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง รวมไปถึงระบบภูมิต้านทานโรคลดลง คนเราถ้าเครียดมากๆ ภูมิต้านทานของร่างกายทำงานได้ไม่ดี ร่างกายก็มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย และมีการศึกษาจำนวนมากพบว่า คนที่มีความเครียดสะสมเรื้อรังเป็นระยะเวลายาวนาน มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งสูง

นอกจากผลกระทบทางด้านร่างกายแล้ว จิตแพทย์ระบุว่ายังมีผลกระทบต่อจิตใจอีกด้วย เพราะคนที่มีความเครียดนานๆ ไม่สามารถแก้ปัญหาในชีวิตได้ ก็จะเกิดความรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง ถ้าเป็นระยะเวลานานก็อาจป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ไม่สามารถทำงาน รับผิดชอบครอบครัวและชีวิตประจำวันได้บางรายอาจจะรุนแรงถึงขั้นฆ่าตัวตาย ซึ่งเราพบเห็นเป็นข่าวจากสื่อเป็นประจำ

ผลกระทบของความเครียด นอกจากจะมีต่อตัวเองแล้ว ยังส่งผลต่อคนรอบข้างไม่น้อย คนที่มีความเครียดสะสม มักจะมีอาการหงุดหงิด ฉุนเฉียวได้ง่าย ทำให้บรรยากาศในครอบครัว หรือที่ทำงานไม่ดี คนรอบข้างพลอยเครียดและไม่มีความสุขตามไปด้วย และในหลายๆ ราย ความอดทนต่อความขัดแย้งต่างๆ จะลดลงและมักใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงหรือทำร้ายผู้อื่น ทำให้เกิดเหตุเศร้าสลดใจติดตามมา

ทักษะในการจัดการกับความเครียดจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับทุกคน ซึ่งแต่ละคนมีความสามารถในการรับความเครียดได้ไม่เท่ากัน ซึ่งนพ.ไกรสิทธิ์ บอกว่า คนที่สุขภาพจิตแข็งแรงก็จะสามารถรับความเครียดได้มาก ถึงจุดเดือดยาก ล้มยาก ขณะที่คนที่สุขภาพจิตแข็งแรงน้อยก็จะรับความเครียดได้น้อย ถึงจุดเดือดง่าย ผลกระทบจากความเครียดก็จะมีความรุนแรง เราทุกคนจึงมีความจำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะในการจัดการกับความเครียด โดยมีหลักการคร่าวๆ คือ พยายามลดแรงกดดันที่ไม่จำเป็นออก ให้เหลือน้อยที่สุด และเพิ่มความสามารถของตนเองในการรับมือกับแรงกดดัน

นพ.ไกรสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับแนวทางในการลดแรงกดดันนั้นสามารถทำให้หลายทาง เช่น การปรับลดเป้าหมายหรือความคาดหวังต่างๆ ในชีวิตและการทำงานให้ลดลง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพราะการตั้งเป้าหมายสูงเกินไปไม่เหมาะกับสถานการณ์ จะเป็นตัวสร้างแรงกดดันเกินจำเป็น นอกจากนี้การใช้ชีวิตแนวเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช้จ่ายหรือก่อหนี้เกินกำลัง ก็จะช่วยลดแรงกดดันด้านภาระการเงิน ส่วนปัญหาแรงกดดันด้านเศรษฐกิจหรือความขัดแย้งทางการเมืองอาจกระทำได้โดยลดการรับรู้ข่าวสารลง เพราะบางคนรับข้อมูลเข้ามากเกินไปโดยไม่รู้ตัว และไม่สามารถจัดการกับสิ่งที่รับเข้าไปได้ก็ก่อให้เกิดความเครียด

สำหรับการเพิ่มความสามารถในการรับมือกับแรงกดดัน จิตแพทย์ให้แนวทางว่า สามารถทำได้โดยการจัดการกับความเครียด ไม่ให้สะสมอยู่ในตัวเรา เพราะถ้าความเครียดสะสมมากๆ เมื่อเจอกับความขัดแย้ง โอกาสที่จะถึงจุดเดือดระเบิดอารมณ์ก็เป็นไปได้ง่าย

“ถ้าจะเปรียบเทียบสุขภาพใจกับสุขภาพกาย ด้านร่างกายเราต้องอาบน้ำชำระร่างกายทุกวัน เพื่อขจัดสิ่งสกปรก เหงื่อไคล สะสมก่อให้เกิดโรคผิวหนังหรือโรคติดเชื้อตามมา ด้านจิตใจก็เช่นกัน แต่ละวันเราจะต้องเจอกับเหตุการณ์ที่เข้ามากระทบจิตใจ ทำให้เกิดอารมณ์ต่างๆ ขึ้นมากมาย ทั้งบวกและลบ อารมณ์ลบที่สะสมและไม่ได้ถูกกำจัดออกก็จะก่อให้เกิดความเครียดและส่งผลให้เกิดความเจ็บป่วยได้ ดังนั้นเราจึงควรหาเวลาส่วนตัวในแต่ละวันเพื่อชำระล้างอารมณ์ลบออกจากใจ เช่น ฟังเพลงที่ชอบ ทำงานอดิเรก เล่นกีฬา ปั่นจักรยาน ชมนกชมไม้เพื่อพักสมอง รวมถึงการฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ”

สำหรับการเพิ่มความสามารถในการรับมือกับความเครียดนั้น นพ.ไกรสิทธิ์ แนะนำว่า ควรฝึกทำอะไรให้ช้าลง เพราะปัจจุบันชีวิตประจำวันของเราเต็มไปด้วยความรีบเร่ง ทำให้เรื่องของสมาธิและสติในชีวิตประจำวันของเราลดน้อยลง คนที่มีสมาธิและสติที่ดีจะมีโอกาสรู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง ทำให้การควบคุมอารมณ์ทำได้ดีขึ้น ปัญหาในชีวิตที่เกิดจากการขาดสติ ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ก็จะลดน้อยลง การใช้วิธีนับ 1 ถึง 10 หรือการออกจากสถานที่ที่ทำให้เกิดอารมณ์ขุ่นมัวก็ยังเป็นวิธีที่ดีที่จะช่วยลดโอกาสเกิดการระเบิดอารมณ์ได้

อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการรับมือกับความเครียดได้ก็คือ การหาความรู้เพิ่มเติมด้านจิตวิทยาและศาสนา เพื่อเพิ่มมุมมองชีวิต มุมมองปัญหาได้กว้างขึ้น เมื่อชีวิตจะต้องประสบกับปัญหาก็สามารถมองเห็นทางเลือกสำหรับทางออกได้มาขึ้นกว่าเดิม โอกาสจะรู้สึกว่าเกิดทางตัน ท้อแท้ หรือโกรธแค้นก็น้อยลง ความสามารถคิดหรือมองโลกแง่บวก และการให้อภัยก็ทำได้ดีมากขึ้น เพื่อเป็นการตัดวงจรเครียดก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงน่าสลดใจตามมา


ข้อมูลจากโรงพยาบาลมนารมย์
[ ... ]

โรคหนังแข็ง (scleroderma)

กรณีหญิงวัย 57 ปี ชาว จ.อุตรดิตถ์ ที่ป่วยเป็นโรคหนังแข็ง (scleroderma) หลังถูกแมลงกัด ไม่ได้เกิดจากแมลงมีพิษ หรือเป็นโรคอุบัติใหม่แต่อย่างใด โดยโรคดังกล่าวพบมานานแล้ว และจะเกิดเฉพาะบุคคลที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งมีโอกาสเป็นเพียง 1,000 ต่อ 67 ล้านคนเท่านั้น ผู้ป่วยรายนี้แสดงอาการหลังถูกแมลงกัดนั้น อาจเป็นเพราะมีสารบางอย่างในแมลงที่ไปกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงาน แต่ระบบที่ผิดปกติทำให้ร่างกายสร้างคอลลาเจนที่ผิวหนังในปริมาณที่มากเกิน จนผิวหนังแข็งขาดความยืดหยุ่น สร้างความเจ็บป่วยให้กับผู้ป่วยได้

ผู้ป่วยมีสภาพซูบผอม เหลือเพียงหนังหุ้มติดกระดูก อยู่ใต้ถุนบ้าน มานานกว่า 3 ปี ไม่สามารถเดินไปไหนมาไหนได้เหมือนคนปกติทั่วไป มีลูกชายวัย 38 ปีคอยดูแลผู้เป็นแม่ ในสภาพความเป็นอยู่ที่ลำบาก ฐานะยากจน ทางผู้ว่าฯ อุตรดิตถ์ได้ประสานโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ นำรถกู้ชีพโรงพยาบาลอุตรดิตถ์พร้อมแพทย์ พยาบาล รับตัวผู้ป่วยรายดังกล่าวเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2552 แพทย์เข้าตรวจดูอาการของของผู้ป่วยหลังเข้ารับการรักษาตัวที่ตึกอายุรกรรมหญิง พบว่าอยู่ในระยะขั้นรุนแรง คือ ลุกลามไปทั่วทั้งตัว จึงทำการเอ็กซเรย์ปอด และหัวใจพบว่าหัวใจโต ปอดมีเริ่มมีผังผืนเกาะ และแข็งตัว จากการตรวจคลื่นสะท้อนหัวใจพบว่ากลีบของลิ้นหัวใจเริ่มแข็งตัว กล้ามเนื้อหัวใจการบีบตัวน้อยลง เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หากไม่รับการรักษาจะทำให้คนไข้มีอาการหัวใจวายเฉียบพลันได้ แต่เมื่ออยู่ในความดูแลของแพทย์อาการของโรคจะไม่ลุกลาม และจะดีขึ้นตามลำดับ แต่ยังไม่หายขาด เพราะเป็นโรคที่ไม่มียารักษาเฉพาะ เพียงแค่บรรเทาให้ทุเลา ส่วนผิวหนังที่แข็ง ตกสะเก็ด ใช้ครีมทาผิวช่วยทำให้ผิวหนังเริ่มนุ่มขึ้น

ลักษณะของโรค
โรคหนังแข็งเป็นโรคที่พบได้น้อย แต่ทำให้เกิดอัตราความพิการสูง ในคนไทยพบอุบัติการของโรคประมาณ 1/100,000 คน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงอายุ 40-50 ปี อัตราส่วนของเพศหญิงมากกว่าเพศชายประมาณ 2 : 1

โรคหนังแข็งมี 3 ระยะ คือ ระยะการอักเสบ บุคคลทั่วไปสามารถสังเกต และรับรู้ได้ คือปวดตามข้อ ผิวหนังตึง และปวม ระยะที่ 2 ผิวหนังเริ่มแข็ง หากถูกความเย็นจะซีดและกลายเป็นสีดำ ระยะที่ 3 ถือว่ารุนแรง ปรากฏผิวหนังแข็ง และมีสีดำไปทั่วทั้งตัว ตกสะเก็ด หนังหุ้มกระดูก และกระทบต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆ ที่สำคัญของร่างกาย หากคนไข้อยู่ในระยะที่ 1-2 สามารถรักษาได้ทันท่วงที จะทำให้ดีขึ้น และสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้

โรคหนังแข็งเป็นโรคเรื้อรังไม่ทราบสาเหตุ อาการของโรคมีได้หลายแบบขึ้นกับความรุนแรงของโรค โดยมีลักษณะที่สำคัญคือ มีสะสมของผังผืดคอลลาเจนที่ผนังหลอดเลือด และอวัยวะภายในร่างกายมีการแข็ง และหนาตัวของผิวหนัง การแข็งตัวของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงผิวหนัง และอวัยวะภายใน เช่น หลอดอาหาร ปอด หัวใจ และไต ทำให้เกิดอาการที่ระบบนั้นๆ

การดำเนินโรคในผู้ป่วยแต่ละรายจะแตกต่างกันมาก อาจใช้เวลาเพียง 1-2 เดือน หรือนานเป็นปีกว่าจะมาพบแพทย์ พวกที่มีการดำเนินโรคเร็วมักจะมีพยากรณ์โรคไม่ดี มักจะมีพยาธิสภาพของอวัยวะภายในร่วมด้วยบ่อย ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตจากอาการทางปอด หัวใจ และไต ซึ่งมักจะเกิดขึ้นภายใน 1-2 ปีแรกหลังจากที่เริ่มมีอาการ

โรคผิวหนังแข็งเป็นโรคที่หายเองได้ และบางรายผิวหนังจะหายเป็นปกติได้ โดยเฉพาะรายที่มีการดำเนินโรคช้า และไม่มีพยาธิสภาพของอวัยวะภายใน ผิวที่แข็งตึงจะเริ่มอ่อนตัว และหายเป็นปกติ จุดประขาวจะจางลง แต่บางรายอาจเห็นร่องรอยของโรคผิวแข็งตกค้างใหัสังเกตเห็นได้อยู่บริเวณนิ้วมือ และใบหน้า

สาเหตุ
โรคหนังแข็งเป็นโรคในระบบเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่ไม่ทราบสาเหตุ ทำให้มีเนื้อเยื่อพังผืดแทรกอยู่ในชั้นผิวหนัง และอวัยวะภายในมากผิดปกติ ความหมายของ “sclerodema” ตามศัพท์นั้นหมายถึง “ผิวหนังแข็ง” โดยไม่ได้จำกัดว่าจะเกิดจากสาเหตุใด อาจเกิดจากการสัมผัสสารเคมีหรือได้รับยาบางชนิด เกิดตามหลังการบาดเจ็บ หรือเกิดร่วมกับโรคอื่นๆ เช่น เบาหวาน โรคทางเมตาบอลิกอื่นๆ หรือพบร่วมกับโรคมะเร็ง แต่ในทางปฎิบัติแล้วเมื่อกล่าวถึง scleroderma มักหมายถึงโรคหนังแข็งปฐมภูมิที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด

โรคนี้เป็นโรคเก่าแก่มีการกล่าวถึงตั้งแต่สมัยฮิปโปเครติส (460-370 ปีก่อนคริสตศักราช) แต่ได้รับการเขียนบันทึกบรรยายลักษณะของโรคโดย Curzio เมื่อปี ค.ศ. 1753 แต่ยังไม่มีการตั้งชื่อโรค จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1847 จึงได้มีการใช้ชื่อ sclerodermie เป็นครั้งแรกโดย Gintrac ชื่อนี้ดัดแปลงมาจากภาษาลาติน (scleros=hard, derma=skin) และได้มีการใช้ต่อมาเป็น scleroderma ในที่สุด

อาการ
อาการทางผิวหนัง ผิวหนังจะสีดำ กำมือไม่ได้ มือจะขาว หรือซีด ซึ่งเกิดจากเส้นเลือดหดตัว ต่อมาจะมีสีม่วงหรือคลำ้เนื่องจากผิวหนังขาดออกซิเจน หลังจากนั้นผิวหนังจะมีสีแดงเนื่องจากเลือดจะไหลไปเลี้ยงเพิ่มขึ้น ผิวหนังจะเกิดอาการเหล่านี้เมื่อสัมผัสอากาศหรือน้ำเย็น อาจพบมีแผลจุดเล็กๆ ที่ปลายนิ้ว ผิวหนังที่เริ่มเป็นมักจะเกิดบริเวณมือ ต่อมาจะลามมาที่แขน หน้า และลำตัว ผู้ป่วยทำหน้าผากย่นไม่ได้ ยิ้มยาก ตามตัวพบด่างขาวเป็นจุด

หลอดอาหาร พบว่าผู้ป่วยร้อยละ 80 มีอาการกลืนลำบาก เจ็บเวลากลืน เนื่องจากการเคลื่อนไหวของหลอดอาหารน้อย หรือมีกรดไหลย้อน หรือหลอดอาหารอักเสบ การวินิจฉัยทำได้โดยการกลืนแป้งตรวจหลอดอาหาร จะพบว่าหลอดอาหารจะมีการบีบตัวน้อยลง ผังผืดที่ปอด พบได้บ่อยรองจากทางเดินอาหาร โดยพบได้ตั้งแต่ร้อยละ 40-90 ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยง่าย ความหลอดเลือดในปอดเพิ่มทำให้เกิดหัวใจห้องขวาวาย

หัวใจ และหลอดเลือด มักจะไม่ค่อยมีอาการจากการตรวจศพ พบว่าอัตราการเกิดโรคที่หัวใจพบได้ร้อยละ 30-80 หากมีอาการทางหัวใจพบว่าจะมีอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 70 ใน 5 ปี

ไต พบได้ร้อยละ 10-40 ของผู้ป่วย และพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตสูง อาการของโรคไตมีสองชนิดคือชนิดเฉียบพลันผู้ป่วยจะปวดศรีษะ ความดันโลหิตสูง ตามัวลง และชนิดเรื้อรังผู้ป่วยจะมีอาการ

กล้ามเนื้อ และข้อ พบว่าผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ และมีการอักเสบของข้อ และมีหินปูนเกาะที่เอ็น

เกณฑ์การวินิจฉัย
เกณฑ์หลัก ได้แก่ ผิวหนังส่วนลำตัวหรือแขนขาแข็งตัว หนาตัว และบวม
เกณฑ์การวินิจฉัยรอง ได้แก่ ผิวหนังที่นิ้วจะแข็ง กำมือลำบาก ปลายนิ้วมีแผล ปอดมีผังผืด
การวินิจฉัยประกอบไปด้วยเกณฑ์หลัก 1 ข้อ และเกณฑ์รองอย่างน้อย 2 ข้อ

การรักษา
การรักษาความผิดปกติที่ผิวหนังโดยใช้ยาขยายหลอดเลือด เพื่อลดอาการหดตัวของหลอดเลือด เพิ่มการหมุนเวียนของหลอดเลือดมากขึ้น นิยมใช้ยากลุ่ม calcium channel blocker และยากลุ่ม angiotensin II receptor type I antagonist นอกจากนี้มีรายงานการใช้ยากลุ่ม prostacyclin antagonist ได้ผลดีเช่นกัน

ยาลดการเกิดเยื่อพังผืด ช่วยลดการทำลายอวัยวะที่สำคัญ D-pennicillamine, colchicine และgamma interferon

ยาชื่อ relaxin ซึ่งเป็นโปลิเปปไทด์ และจัดเป็น cytokine growth factor ชนิดหนึ่งที่ยับยั้ง transforming growth factor beta overexpression ของโปรคอลลาเจนชนิด I และ II และเพิ่มการสร้างเอนไซม์ matrix metalloproteinase

ยาลดการอักเสบ หรือกดภูมิคุ้มกัน ได้แก่ glucocorticoids, azathioprine, cyclophosphamide

ผู้ป่วยควรจะได้รับอาหารที่เคี้ยวง่าย และมีโปรตีนสูง รวมทั้งควรจะได้รับวิตามินเสริม ไม่ควรรับประทานสารที่มีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดตีบ รักษาร่างกายให้อบอุ่นรวมทั้งมือและเท้า ควรจะสวมถุงมือหรือถุงเท้าในฤดูหนาว หากมีอาการมาก อาจจะต้องแช่น้ำอุ่นทุก 4 ชั่วโมง การทำกายภาพบำบัดโดยการนวดด้วยน้ำอุ่น หรือการออกกำลังกาย ช่วยชลอการดำเนินของโรค ทาครีมบริเวณผิวหนังที่แข็ง และ หลีกเลี่ยงสารที่ทำให้โรคเป็นมากขึ้น เช่น silica, chlorinated ethylens, solvents, plastic monomers

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
[ ... ]

เติมคุณประโยชน์ให้คุณแม่ด้วยกีวี

กีวี ผลไม้ลูกเขียวๆทองที่ปัจจุบันสามารถหาซื้อได้ง่ายๆตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วไป แต่หลายครั้งที่คคุณพ่อคุณแม่ หรือกระทั่งคุณลูกยังไม่รู้ถึงคุณประโยชน์ของเจ้าผลไม้ลูกเล็กๆนี้ ที่นอกจากจะเป็นแหล่งรวมมหาศาลของวิตามินซีแล้ว ยังเป็นแหล่งรวมของโฟเลทอีกด้วย ซึ่งเจ้าโฟเลทหรือกรดโฟลิคนี้ช่วยในการสร้างดีเอ็นเอ เซลล์เม็ดเลือด ทำให้ผิวมีสุขภาพดี ป้องกันการเกิดโรคหัวใจ ที่สำคัญสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ยังมีประโยชน์อย่างมากต่อพัฒนาการของทารก และช่วยป้องกันความเสี่ยงจากการคลอดแบบผิดปกติอีกด้วย

จากผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยรัตเจอร์ส ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่ากีวีเป็นผลไม้ที่อุดมด้วยโฟเลตสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกีวีสีทอง และเมื่อเปรียบเทียบปริมาณโฟเลตในกีวีและผลไม้ชนิดอื่นๆ พบว่ากีวีสีเขียวหนึ่งผลมีโฟเลตมากกว่ามะม่วงสองลูก ในขณะที่กีวีสีทองหนึ่งผลมีโฟเลตเท่ากับปริมาณโฟเลตที่มีในกล้วยหนึ่งผลครึ่ง นอกจากนี้ในกีวียังมีสารอาหารอื่นๆ ที่สำคัญต่อลูกน้อยในครรภ์ เช่น กรดอมิโนที่ช่วยสร้างโปรตีน อิโนซิตอล (Inositol) ฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโต ที่ไม่เพียงแค่กระตุ้นการทำงานของสมองเท่านั้น แต่ยังเสริมสร้างพัฒนาการของปอดอีกด้วย

เมนู “โกลเด้น สมูทตี้” น้ำสุขภาพ ที่ทำง่ายๆ ใช้เวลาเพียง 3 นาทีเท่านั้น แถมได้คุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน

ส่วนผสม (สำหรับ 2 ท่าน)

เซสปรีสีทอง 2 ผล
กล้วย ผลเล็ก 1 ผล
น้ำส้มคั้น ½ ถ้วยตวง
โยเกิร์ต ½ ถ้วยตวง
น้ำแข็งหลอด

วิธีทำ
1.ผ่าครึ่งกีวีและตักเนื้อผลไม้ใส่ในเครื่องปั่น
2.ใส่กล้วย น้ำส้ม และโยเกิร์ตลงไป
3.ปั่นจนเข้ากัน โดยระวังไม่ให้เม็ดกีวีแตก เพราะจะทำให้สมูทตี้มีรสขม
4.เทน้ำปั่นที่ได้ลงไปในแก้วน้ำแข็งทรงสูง 2 แก้ว

คุณค่าสารอาหารต่อแก้ว : แคลอรี 160 (ร้อยละสิบจากไขมัน) โปรตีน 5 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 38 กรัม, ไฟเบอร์ 2 กรัม, ไขมัน 2 กรัม, ไขมันอิ่มตัว 0 กรัม, ไขมันแปรรูป 0 กรัม, คอเลสเตอรอล 5 มิลลิกรัม, โซเดียม 45 มิลลิกรัม

เคล็ดลับแสนง่ายในการเลือกซื้อกีวีนั้นคือ การเลือกลูกที่แน่นพอสมควร ไม่มีจุดด่างดำ รอยช้ำหรือเปลือกเหี่ยวย่น กีวีที่สุกพอดีจะยุบตัวเล็กน้อยเมื่อกำไว้ในมือแล้วบีบเบาๆ สามารถรับประทานได้ทันที หรือเก็บไว้ในตู้เย็นได้อีกประมาณสองถึงสามสัปดาห์
[ ... ]

รู้ทันภัยร้าย...ภายใต้การนอนหลับ

ภัยร้ายที่พบบ่อยในการนอนหลับมีหลายอย่างที่ต้องระวัง ทั้งการนอนกรน หยุดหายใจขณะนอน ซึ่งเป็นอันตราย หากรู้เท่าทันจะช่วยป้องกันได้...

เคยตั้งคำถามมั้ย? ว่าทำไมเราจึงต้องการ การนอนหลับ

ก็เพื่อให้ร่างกายคืนสมรรถภาพ โดยเฉพาะการทำงานของสมองให้เป็นไปได้อย่างปกติ ซึ่งการนอนหลับโดยปกติจะประกอบขึ้นด้วยสองระยะที่สลับกันไปมาทั้งคืนคือ REM sleep การกลอกตาทั้งสองข้างไปมาอย่างรวดเร็วในขณะหลับ ส่วน non-rapid eye คือการนอนหลับในระยะที่ลูกตาสองข้างไม่กรอกไปมา โดยการนอนส่วนนี้ จะแบ่งได้เป็น 4 ระดับ คือ การนอนที่ผิดปกติ หลับไม่สนิท นอนไม่หลับ นอนไม่พอ ทำให้ตื่นมาไม่สดชื่น ซึ่งเป็นลักษณะของการอดนอน สำหรับภัยร้ายภายใต้การนอนที่พบบ่อยมีดังนี้

ภาวะนอนไม่หลับ (Insomnia)

ภาวะนอนไม่หลับ คือโรคที่ผู้ป่วยไม่สามารถนอนหลับได้ต่อเนื่อง ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการง่วงนอนแต่ไม่หลับ หรือนอนหลับสั้นๆ ก็จะตื่นมากลางดึกและไม่สามารถข่มตาให้นอนหลับอีก หรือบางครั้งไม่สามารถนอนหลับได้เลยตลอดทั้งคืน ซึ่งการจะหาสาเหตุนั้นมักมาจากการซักประวัติ ซึ่งต้องครอบคลุมทุกระบบ โดยการวินิจฉัยภาวะการนอน “Polysomnography” เป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้ทราบสาเหตุของโรคได้

สาเหตุของการนอนไม่หลับ อาจมาจากหลายปัจจัย อาทิเช่น

อาหาร เครื่องดื่ม หรือสารที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน สารกระตุ้น หรือยาบางประเภท
สิ่งแวดล้อมขณะหลับ เช่น เตียงนอน สภาพแวดล้อมในห้องนอน นอนผิดที่ ความสว่างและเสียงรบกวน
การเดินทางผิดเวลา การทำงานเป็นกะ
ความวิตกกังวล ความเครียด เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท
โรคสมองบางอย่าง เช่น พาร์กินสัน สมองเสื่อม โรคไต โรคไทรอยด์ เนื้องอกในสมอง ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งทำให้ตื่นบ่อยๆ เป็นต้น

อาการของการนอนไม่หลับ

ภาวะง่วงนอนเวลากลางวัน (Excessive daytime sleepiness)
ภาวะนอนไม่หลับ (Insomnia)
อาการกรน และภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
แขนขาเคลื่อนไหวผิดปกติขณะนอนหลับ

ภาวะนอนกรน

“นอนกรน ไม่ได้สร้างปัญหาแค่เสียงรบกวนอันน่ารำคาญเท่านั้น แต่อันตรายจากการนอนกรน อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ”

ผลกระทบจากการนอนกรน อาจทำให้ผู้ป่วยหยุดหายใจบางขณะ สร้างปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวันมากมาย เช่น ง่วงในเวลากลางวัน สมาธิสั้น อ่อนเพลียเรื้อรัง หงุดหงิดอารมณ์เสีย ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง และผู้ที่นอนกรนยังมีโอกาสเสี่ยงในการเป็นหลอดเลือดสมองแตก สมองเสื่อม โรคหัวใจขาดเลือด โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หย่อนสมรรถภาพทางเพศ และส่งผลต่อความสามารถในการจดจำและการใช้ความคิดอีกด้วย นอกจากนี้ ผู้ที่กรนเสียงดังๆ ยังรบกวนคู่นอนทำให้นอนไม่หลับได้

การนอนกรนคงจะไม่เป็นอันตรายใดๆ หากไม่มีภาวะการหายใจที่ผิดปกติและหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งผู้ป่วยที่มีทางเดินหายใจแคบมากในเวลาหลับ เมื่อยังหลับไม่สนิทจะมีเสียงกรนที่สม่ำเสมอ แต่เมื่อหลับสนิทจะเกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ มีเสียงกรนที่ติดสะดุดไม่สม่ำเสมอ โดยจะมีช่วงกรนเสียงดัง-ค่อยสลับกันเป็นช่วงๆ และจะกรนดังขึ้นเรื่อยๆ โดยมีช่วงหยุดกรนไปชั่วระยะหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการหยุดหายใจ ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจติดขัดเหมือนคนสำลักน้ำ และจะทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดลดลง เป็นผลให้ขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมองระหว่างนั้นอาจทำให้เซลล์สมองเสื่อมได้

ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Sleep Apnea)

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับเป็นภาวะที่เกิดจากการมีสิ่งกีดขวางทางเดินหายใจ ทำให้ทางเดินหายใจแคบลงเกิดการไหลเวียนของอากาศที่หายใจเข้าไปไม่สะดวก

อาการที่แสดงของภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ

มีเสียงกรนขณะนอนหลับ
ตื่นนอนแล้วมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ เจ็บคอ หรือเพลียหลังจากตื่นนอน นับเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ง่วงนอนทั้งวัน (Daytime Sleepiness) ทั้งที่นอนหลับมาทั้งคืน ภาวะนี้จะเป็นอันตรายมากถ้าต้องขับรถอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน

การรักษาการนอนหลับที่ผิดปกติในภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ

- งดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ งดยานอนหลับ หรือยากล่อมประสาท หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำชา กาแฟ
- การควบคุมน้ำหนัก โดยการจำกัดปริมาณและชนิดอาหาร
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง กล้ามเนื้อตื่นตัว และเป็นมาตรการในการลดน้ำหนัก
- นอนในท่าตะแคง หลีกเลี่ยงการนอนในท่านอนหงาย และควรนอนศีรษะสูงเล็กน้อย
- รีบปรึกษาแพทย์ เมื่อมีการหยุดหายใจขณะหลับ แพทย์จะพิจารณาแนวทางรักษาจากความรุนแรง และสาเหตุของโรค

ในกรณีผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมาก ผู้ป่วยควรใส่เครื่อง Nasal CPAP (Nasal Continuous Positive Airway Pressure) เครื่องนี้จะปล่อยแรงดันบวก และจะทำให้ช่องทางเดินหายใจที่แคบกว้างขึ้น จึงทำให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกและหลับสบายขึ้น ในปัจจุบันการรักษาด้วยวิธีนี้ ถือว่าเป็นการรักษาที่ได้ผลดีที่สุด

ทางเลือกในการรักษา มีอะไรบ้าง

1. วิธีไม่ผ่าตัด
การรักษาแบบ Positive Airway Pressure Therapy เป็นการใช้เครื่องพ่นอากาศ (Machine) โดยแพทย์อาจ เลือกใช้เครื่องช่วยหายใจ CPAP ซึ่งเป็นเครื่องครอบจมูกขณะหลับ เพื่อช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น วิธีนี้ปลอดภัย และได้ผลดีในผู้ป่วยเกือบทุกราย

2. วิธีผ่าตัด
แพทย์อาจรักษาโดยวิธี Somnoplasty คือ การจี้กระตุ้นใหเพดานอ่อนหดตัวลง โคนลิ้นหดตัวลง หรืออาจตัดสินใจใช้วิธีการผ่าตัดเอาส่วนที่ยืดยานออก ซึ่งการจะพิจารณาเลือกรักษาโดยวิธีใดนั้น ก็ขึ้นกับความเหมาะสมในแต่ละกรณีไป

วิธีปฏิบัติเพื่อการนอนหลับที่ดี

- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ก่อนนอน 2 ชั่วโมง
- อย่าเข้านอนเวลาหิว
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ คาเฟอีน ผสมอยู่ ก่อนนอน 3 ชั่วโมง
- ความเครียด ความวิตกกังวล เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เรานอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท ก่อนนอนควรผ่อนคลาย
- หลีกเลี่ยงการนอนกลางวัน
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหนักก่อนนอนอย่างน้อย 2 ชั่วโมง


ที่มา : ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลเวชธานี
[ ... ]

Friday, February 5, 2010

โรคผื่นผิวหนังอักเสบ-อีกโรคที่พบได้บ่อย

โรคผื่นผิวหนังอักเสบ-เกิดขึ้นได้จากสาเหตุที่หลากหลาย สารหลายชนิดเป็นต้นเหตุที่สำคัญ ในบางรายอาจตรวจไม่พบสารที่เป็นสาเหตุ เมื่อเกิดการอักเสบจะแสดงออกมาได้หลายรูปแบบ แล้วแต่ระยะของโรค เช่น เป็นชนิดเฉียบพลัน หรือชนิดเรื้อรัง



โรคผื่นผิวหนังอักเสบ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Eczema หรือ Dermatitis จัดเป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยที่สุดโรคหนึ่ง และมีชื่อเรียกได้ต่างๆ กันไป

กลไกการเกิดโรค

พบว่าเกิดปฏิกิริยาการอักเสบขึ้นที่ผิวหนังตำแหน่งต่างๆ เช่น ใบหน้า แขนขา ลำตัว มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่กรณี ปฏิกิริยาอักเสบที่เกิดขึ้นในคนหนึ่งอาจแตกต่างไปจากคนอื่นๆ ได้

สาเหตุ

การอักเสบของผิวหนังเกิดขึ้นได้จากสาเหตุที่หลากหลาย สารหลายชนิดเป็นต้นเหตุที่สำคัญ ในบางรายอาจตรวจไม่พบสารที่เป็นสาเหตุ เมื่อเกิดการอักเสบจะแสดงออกมาได้หลายรูปแบบ ทั้งนี้แล้วแต่ระยะของโรค เช่น เป็นชนิดเฉียบพลัน หรือชนิดเรื้อรัง

โดยทั่วไปสามารถแบ่งตามสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคออกเป็นสองประเภท สาเหตุจากภายนอกร่างกาย และสาเหตุจากภายในร่างกาย

สาเหตุจากภายนอกร่างกาย เกิดจากปฏิกิริยาระหว่างผิวหนังกับสารเคมีที่สัมผัสผิวหนัง ส่วนมากเป็นสารที่พบเห็นหรือสัมผัสอยู่ในชีวิตประจำวัน ประเภทเครื่องใช้ประจำวัน เครื่องประดับต่างๆ เป็นต้น บางครั้งจึงอาจเรียกว่าผื่นระคายสัมผัส

โรคผิวหนังอักเสบที่เกิดจากสาเหตุภายในร่างกาย เกิดเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย มักเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม มักเริ่มเป็นตั้งแต่เด็กๆ และเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาภูมิไวเกินของร่างกาย

การวินิจฉัยโรคผื่นระคายสัมผัส

ผื่นระคายสัมผัสเกิดจากสาเหตุจากภายนอกร่างกาย ส่วนใหญ่เกิดจากปฏิกิริยาระหว่างผิวหนังกับสารเคมีที่สัมผัสผิวหนัง ส่วนมากเป็นสารที่พบเห็นหรือสัมผัสอยู่ในชีวิตประจำวัน ประเภทเครื่องใช้ประจำวัน เครื่องประดับต่างๆ เป็นต้น ผื่นชนิดนี้พบได้บ่อยมากและมักจะตรวจหาสาเหตุได้ โดยการวินิจฉัยสาเหตุอาศัยการทดสอบภูมิแพ้ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Patch test เป็นการทดสอบที่ง่าย ไม่ยุ่งยากแต่อย่างใด

ผื่นสัมผัสนับว่าเป็นปัญหาที่สำคัญมาก เพราะสารที่เป็นสาเหตุอาจมาจากการประกอบอาชีพ เช่น โลหะ ผลิตภัณฑ์ยาง กาว หรืออาจแพ้เครื่องสำอาง เช่น น้ำหอม สารกันบูด น้ำยาย้อมหรือดัดผม สิ่งต่างๆ
เหล่านี้ล้วนแต่เป็นสารที่สัมผัสง่าย ผู้ที่แพ้จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด มิฉะนั้นการรักษาจะไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร

ผื่นแพ้จากนิกเกิล

ผื่นแพ้จากนิกเกิลเกิดได้หลายรูปแบบ เช่น เกิดบริเวณที่สัมผัสกับเครื่องใช้นั้น เช่น ที่ติ่งหู คอ ข้อมือ ผื่นแดงเป็นสะเก็ดที่หนังตาบน เนื่องจากสารติดมือไปถูกหนังตา อาจเป็นผื่นลามไปทั่วตัว หรือเป็นเป็นที่เฉพาะที่มือ

ผื่นแพ้ที่พบได้บ่อย

ผื่นแพ้ยาย้อมผมจะคันและเป็นผื่นแดงบริเวณหนังตา หลังหู ต้นคอ และตีนผม รายที่แพ้มากจะหน้าบวม ตาบวมปิด อาจลามลงมาที่ไหล่และแขน

ในรายที่แพ้เสื้อ จะมีผื่นบริเวณคอ ชายแขนเสื้อ ใต้รักแร้ หลัง ถ้าแพ้กางเกง จะพบผื่นรอบเอว ต้นขา ขาพับ และน่อง ถ้าแพ้รองเท้า จะมีผื่นบนหลังเท้าทั้งสองข้าง ตรงกับบริเวณที่ผิวสัมผัสกับรองเท้า

แพ้ปูนซีเมนต์ จะแพ้ผื่นบริเวณหลังมือลามขึ้นมาตามแขน ขา เท้า ลำตัว ผื่นมักแห้งแตกเป็นร่อง

แพ้ยาทาภายนอก จะเกิดผื่นบริเวณที่ทายา และเมื่อรับประทานยาที่แพ้ก็จะเกิดผื่นคันได้ด้วย


การวินิจฉัยโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้

เป็นโรคผิวหนังอักเสบชนิดที่เกิดจากสาเหตุภายในร่างกาย เกิดเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย มักเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม โรคในกลุ่มนี้เรียกชื่อแตกต่างกันไปแบ่งตามลักษณะผื่นและบริเวณที่เป็น

ลักษณะของที่สามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะ

ระยะเฉียบพลัน ปรากฏเป็นตุ่มแดงหรือตุ่มน้ำ มักจะบวมแดงและมีน้ำเหลืองร่วมด้วย

ระยะปานกลาง สังเกตได้ว่าอาการบวมแดงลดน้อยลงและเริ่มมีสะเก็ดหรือขุยเกิดขึ้นให้เห็น

ระยะเรื้อรัง จะมีลักษณะเป็นผื่นหนา แข็ง และมีลายเส้นของผิวหนังชัดเจนขึ้น ทั้งสามชนิดจะทำให้มีอาการคันมาก ถ้าเกาก็จะเกิดผิวหนังอักเสบมากขึ้น และเวลาหายอาจมีรอยด่างดำเกิดขี้นได้

ลักษณะผื่นจะเป็นเม็ดใส หรือเม็ดหนอง เล็กๆ ต่อมาเม็ดน้ำนี้ก็จะแตกกลายเป็นผื่นสีแดง หรือน้ำเหลืองเยิ้มออกมา พอน้ำเหลืองแห้งก็จะกลายเป็นสะเก็ด ในฤดูหนาวอาจจะเกิดการแตกถึงกับเลือดออกได้ ผื่นดังกล่าวนี้มักจะเริ่มที่ปลายนิ้วมือก่อนแล้วค่อยๆ ลามขึ้นมาจากนิ้วข้อที่หนึ่งมาข้อที่สอง บางรายอาจจะมีผื่นขึ้นที่นิ้วเท้าด้วย

การทดสอบภูมิแพ้สำหรับผื่นผิวหนังอักเสบ ที่เกิดจากสาเหตุภายในร่างกาย ใช้วิธีที่เรียกว่า Prick test และเมื่อทราบว่าแพ้สารใดบ้างก็ช่วยในการรักษา โดยวิธีอิมมูนบำบัด กระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี้ต่อสารที่แพ้

แนวทางการรักษาโรค

แนวทางการรักษาผื่นผิวหนังอักเสบในระยะเฉียบพลัน ให้ประคบด้วยน้ำเกลือหรือน้ำยา Burrow 1:40 หรือน้ำยากรดบอริก 3% วันละ 3-4 ครั้ง เมื่อผื่นแห้งดีแล้วต้องหยุดประคบ มิฉะนั้นจะแห้งเกินไป ทำให้ตึงและแตก

ในระยะปานกลาง พิจารณาใช้ยาทาสตีรอยด์ ตามลักษณะและตำแหน่งผื่นที่เป็น

ส่วนในระยะเรื้อรัง ใช้ยาทาสตีรอยด์ผสม Salicylic acid ช่วยให้ผื่นหายเร็วขึ้น

สำหรับอาการคัน ให้ใช้ยาต้านฮิสตามีนชนิดรับประทาน เช่น อินซิดาล (incidal) หรือ อะตาแรกซ์ (atarax) ควรระวังฤทธิ์ง่วงนอนที่เกิดจากการใช้ยาในกลุ่มนี้ หลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะและการทำงานที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและของมีคม

คำแนะนำบางประการสำหรับผู้ป่วย

ป้องกันมิให้มือสัมผัสกับสิ่งระรายเคือง หรือสงสัยว่าจะแพ้ เช่น สบู่ ผงซักฟอก

งดสระผมด้วยตัวเอง หรือสวมถุงมือ ไม่ทายานวดผม ย้อมผม

หลีกเลี่ยงการฟอกมือหรือการล้างมือบ่อยๆ

หลีกเลี่ยงการปลอกหรือบีบเปลือกผลไม้

ไม่ใส่แหวนขณะทำงาน

ควรใช้สบู่อ่อนในการล้างมือ

เมื่อหายแล้วควรหยุดงานเสียระยะหนึ่งก่อน

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
[ ... ]

ปัญหาหน้าท้องแตกลาย...ไม่สายเกินกว่าจะแก้ไข

ขณะตั้งครรภ์คุณแม่หลายท่านอาจมีอาการคันหน้าท้อง โดยเฉพาะช่วงระยะใกล้คลอด เมื่อสำรวจดูอาจพบว่าผิวหนังบริเวณนั้นแตกเป็นร่องซะแล้ว...

ช่วงตั้งครรภ์เป็นเวลาที่คุณผู้หญิงหลายคนใฝ่ฝันถึง เพราะกำลังจะมีสมาชิกตัวน้อยๆ เข้ามาเติมเต็มชีวิตครอบครัวให้สมบูรณ์มากขึ้น แต่ทว่าขณะตั้งครรภ์คุณแม่หลายท่านอาจมีอาการคันหน้าท้อง โดยเฉพาะช่วงระยะใกล้คลอด เมื่อสำรวจดูอาจพบว่าผิวหนังบริเวณนั้นแตกเป็นร่องซะแล้ว

นพ.ชัยประสิทธิ์ บาลมงคล อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคผิวหนัง โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวถึงปัญาหาผิวแตกลายว่า เกิดจากผิวหนังของเราถูกยืดหรือดึงให้ขยายตัวออกอย่างรวดเร็ว โดยมักเริ่มบริเวณหน้าท้อง และลามมาที่สะโพก หรือต้นขาด้วย นอกจากภาวะตั้งครรภ์แล้ว เรายังสามารถพบรอยแตกลายในคนที่น้ำหนักเกิน ในเด็กช่วงที่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่นซึ่งร่างกายมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และในผู้ที่ได้รับสารสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานานๆ โดยจะเกิดเป็นรอยทางยาวสีชมพูเรื่อๆ หรือแดง เมื่อดูให้ละเอียดจะพบว่าผิวบริเวณนั้นแบนหรือฝ่อราบลง บางรายอาจมีอาการคันร่วมด้วย ต่อมาจะมีสีเข้มขึ้นเป็นสีแดงหรือม่วง ถ้าปล่อยทิ้งไว้ในระยะยาว รอยนี้จะกลายเป็นทางยาวซีดๆ เงาๆ ได้ รอยแตกส่วนใหญ่กว้าง 1-10 มิลลิเมตร และยาวได้หลายเซนติเมตร สามารถพบได้บ่อยมากโดยอาจพบหน้าท้องลายได้ถึง 90 % ของหญิงตั้งครรภ์ในไตรมาสสุดท้าย

ปัจจัยที่ส่งเสริมให้มีโอกาสเกิดรอยแตกลายได้ง่ายขึ้น ได้แก่ การตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุน้อย อัตราการเพิ่มของน้ำหนักตัวระหว่างตั้งครรภ์ น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดรวมถึงน้ำหนักตัวของทารกแรกคลอด นอกจากนี้แล้ว ถ้าคนในครอบครัวเคยประสบปัญหาหน้าท้องลายขณะตั้งครรภ์ยิ่งทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้สูงขึ้น

แม้ว่าอาการแตกลาย ไม่ได้มีผลต่อสุขภาพโดยรวม แต่ขืนปล่อยไว้นานขึ้นโดยไม่ได้รักษา รอยแตกลายจะมีสีซีดลงจนเป็นสีขาว ผิวบางและบุ๋มลงเหมือนแผลเป็น คงไม่มีคุณแม่คนไหนอยากให้เกิดรอยเช่นนั้น นอกจากจะไม่สวยงามแล้วยังทำให้ขาดความมั่นใจ โดยเฉพาะเวลาใส่ชุดว่ายน้ำหรือกระโปรงสั้น แต่หากผิวแตกลายขึ้นมาแล้วก็ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะปัจจุบันนี้วิทยาการทางการแพทย์สมัยใหม่สามารถช่วยแก้ไขให้ผิวบริเวณนั้นดูดีขึ้นได้ เช่น



- การทาอนุพันธ์ของวิตามินเอ เช่น tretinoin ในกรณีที่เพิ่งเริ่มมีปัญหา

- การลอกผิวด้วยสารเคมี หรือ chemical peeling เพื่อผลัดผิวชั้นบนๆ ออกไป

- การกรอผิวด้วยวิธี microdermabrasion หรือ crystal peeling เพื่อขจัดเซลล์เก่าออก และกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบริเวณผิวหนังส่วนบน

- การทำเลเซอร์ ใช้หลักการเดียวกับการรักษาแผลเป็น โดยเลเซอร์บางชนิดสามารถยิงลงไปสู่ผิวชั้นลึกเพื่อทำลายพังผืดด้านล่าง และกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อคอลลาเจนไปพร้อมๆ กัน ทำให้ลักษณะรอยแตกดูเนียนเรียบขึ้น เป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่ แต่ได้ผลค่อนข้างน่าพอใจ หรืออาจเลือกใช้เลเซอร์ชนิดอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาสีผิวที่ผิดปกติได้

อย่างไรก็ตาม การรักษารอยแตกลายเป็นเรื่องยากและใช้เวลาพอสมควร โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีปัญหามาก เช่นมีรอยแตกเป็นบริเวณกว้างหรือเป็นมานาน อาจต้องใช้การรักษาหลายวิธีประกอบกัน จึงอาจทำให้เกิดความกังวล ท้อแท้ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงขึ้น ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือการป้องกันไม่ให้เกิดรอยแตกลาย แล้วเราจะมีวิธีใดบ้างที่ช่วยถนอมดูแลผิวตลอด 9 เดือนของตั้งครรภ์

เคล็ดลับป้องกันหน้าท้องแตกลาย

เคล็ดลับที่ 1 ดูแลตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ จากข้อมูลที่มี เรารู้ว่าหน้าท้องแตกลายเกิดจากการขยายตัวของหน้าท้องอย่างรวดเร็วจนผิวหนังปรับไม่ทัน ดังนั้น จึงควรใส่ใจเรื่องอาหารที่รับประทานและควบคุมน้ำหนักตัวอย่าให้ขึ้นมากเกินเกณฑ์ที่กำหนด ผิวหนังของเราจะได้มีเวลาปรับตัว ไม่ต้องรับภาระขยายตัวมากเกินไป

เคล็ดลับที่ 2 ทาครีมบำรุงผิวอย่างสม่ำเสมอ เพราะการทาครีมบำรุงผิวเป็นประจำจะช่วยให้ผิวนุ่มชุ่มชื้นและยืดหยุ่น เป็นการเตรียมความพร้อมผิวหนังของคุณแม่ให้สามารถรับมือกับการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของลูกน้อยในครรภ์ได้ดีขึ้น โดยควรเริ่มให้เร็วที่สุด คือตั้งแต่เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ คุณแม่ควรเลือกครีมหรือโลชั่นชนิดที่มีเนื้อข้น เพราะสามารถเก็บความชุ่มชื้นได้ดีกว่าและนานกว่าแบบทั่วไป หรือในคนที่ผิวแห้งมากอาจใช้เบบี้ออยล์หรือน้ำมันมะกอกทาผิวได้ ช่วงเวลาที่ทาครีมก็สำคัญ เวลาที่ควรทามากที่สุดคือหลังอาบน้ำ เพราะผิวยังชุ่มชื้นอยู่ การทาครีมในช่วงนี้จะช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นไม่ให้ระเหยออกไปกับสิ่งแวดล้อมภายนอก โดยแนะนำให้ทาครีมบำรุงผิวทันทีหลังเช็ดตัวหมาดๆ และควรหมั่นทาต่อเนื่องระหว่างวันเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวตลอดเวลา โดยควรเพิ่มปริมาณเนื้อครีมให้มากขึ้นตามอายุครรภ์ที่เพิ่มขึ้นด้วย และแนะนำทาครีมต่อเนื่องจนกระทั่งหลังคลอดเพราะผิวต้องรับภาระหดตัวเพื่อให้กลับคืนสู่สภาวะปกติ

เคล็ดลับที่ 3 เลือกอาบน้ำที่อุณหภูมิปกติ หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อนหรืออุ่นจัดๆ เพราะน้ำที่อุณหภูมิสูงจะชะล้างไขมันที่เคลือบผิวออกไป ทำให้ผิวขาดความชุ่มชื้น แห้ง ลอกและแตก โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีผิวแห้งอยู่แล้ว จะยิ่งมีโอกาสหน้าท้องแตกลายได้ง่ายขึ้น

เคล็ดลับที่ 4 เคล็ดลับสุดท้ายที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ หลีกเลี่ยงการเกา เนื่องจากการเกาจะทำให้ผิวยิ่งอักเสบมากขึ้น และยังอาจเกิดแผล ส่งผลให้มีโอกาสติดเชื้อ หรือเป็นรอยดำตามมาได้ ดังนั้นถ้าคุณแม่มีอาการคัน สิ่งที่ควรทำคือพยายามทาครีมบำรุงให้มากหรือบ่อยขึ้น

สุดท้ายนี้ หวังว่าคุณแม่ทั้งมือใหม่และไม่ใหม่ทุกท่านจะมีความรู้ไว้รับมือกับปัญหาผิวแตกลายได้ดีขึ้นนะครับ

ศูนย์ผิวหนัง เลเซอร์และความงาม โรงพยาบาลเวชธานี
[ ... ]

Thursday, February 4, 2010

ฤดูฝนพรำ…ต้องระวัง!

ช่วงนี้เป็นช่วงที่ฤดูกาลเปลี่ยนแปลง ฝนตกมากขึ้น ปริมาณความชื้นในอากาศเพิ่มขึ้น แถมบางวันอากาศก็ร้อนมากกว่าปกติ เป็นผลทำให้ร่างกายปรับตัวรับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ไม่ทัน นอกจากนี้ยังเป็นฤดูที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคทางระบบหายใจหลายชนิด ทำให้เกิดการเจ็บป่วยของโรคระบบหายใจทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่เป็นกันถ้วนหน้า ไม่ว่าเด็กเล็ก เด็กโต คุณพ่อ คุณแม่ ในวันนี้จะขอกล่าวถึงโรคระบบทางเดินหายใจในเด็กที่พบได้บ่อยๆ ขณะนี้ โดยจะแยกง่ายๆ เป็นโรคระบบทางเดินหายใจส่วนบน และระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง

“โรคหวัด” เรื่องธรรมดาที่ไม่อาจหนีพ้น…

โรคของระบบทางเดินหายใจส่วนบน ที่พบได้บ่อยสุดคงหนีไม่พ้นโรคหวัด แม้กระทั่งข้อมูลของประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกายังพบอุบัติการณ์ของโรคหวัดในเด็กวัยเรียนที่ถือว่าเป็นปกติประมาณปีละ 6-8 ครั้ง ดังนั้นคุณพ่อ คุณแม่ที่มีลูกวัยเข้าเรียนที่พอเริ่มไปโรงเรียนปุ๊บ! เป็นหวัดปั๊บ! บางคนไปโรงเรียน 2 วัน หยุด 1 อาทิตย์ บางคนไปอาทิตย์เว้นอาทิตย์ อย่าเพิ่งรีบคิดว่า ลูกของคุณพ่อ คุณแม่ ผิดปกติมากมาย เพราะว่าเดิมอยู่ที่บ้านโอกาสที่จะติดเชื้อน้อยกว่า ภูมิต้านทานก็ยังไม่แข็งแรง พอเริ่มไปโรงเรียนเพื่อนๆ เป็นหวัดโอกาสติดต่อก็เพิ่มสูงขึ้น ยิ่งถ้าห้องเรียนเป็นห้องแอร์ โอกาสการติดเชื้อยิ่งง่ายกว่าปกติ โรคหวัดจะติดต่อกันโดยผ่านทางลมหายใจ และสารคัดหลั่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมูก น้ำลาย เป็นต้น

สาเหตุของโรคหวัดในเด็กมากกว่า 60-70% เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งมีมากมาย ไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคทางระบบหายใจมีมากกว่า 200 ชนิดขึ้นไป และนอกจากนี้ อาจจะเกิดจากเชื้อแบคทีเรียได้ หวัดที่เกิดจากเชื้อไวรัสจะทำให้มีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เจ็บคอ ไอจาม คัดจมูก แสบตา น้ำตาไหล ตาแดง ส่วนใหญ่จะมีอาการอยู่ประมาณ 5-7 วัน ก็จะหายเป็นปกติ ถ้าเป็นหวัดที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยมักจะมีอาการไข้สูง บายรายอาจหนาวสั่น ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ซึ่งลักษณะของน้ำมูกมักจะมีสีเขียวปนเหลืองให้เห็นตั้งแต่วันแรกๆ ของโรค อาจตรวจพบต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอ และกดเจ็บร่วมด้วย จำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ หรือยาแก้อักเสบร่วมกับการรักษาตามอาการ

โรคของระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง…เรื่องนี้ต้องรู้

ในที่นี้จะกล่าวถึง โรคหลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบ ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อย และมีอาการตั้งแต่รุนแรงน้อยจนถึงมาก อาการของโรคหลอดลมอักเสบ เกิดได้จากหลายๆ สาเหตุ เช่น การติดเชื้อ การแพ้ และการระคายเคืองจากสารเคมี จะขอกล่าวถึงเฉพาะโรคหลอดลมอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ อาการโดยทั่วไปมักเริ่มด้วยอาการของโรคหวัดนำมาก่อน เช่น ไข้ น้ำมูกใส ต่อมามีอาการไอ เริ่มต้นมักจะไอแห้งๆ แล้วตามมาด้วยไอมีเสมหะขาวใส หรือเหลือง ขึ้นกับชนิดของเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดอาการ เป็นได้ทั้งเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย อาการไอเป็นอาการเด่นที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ บางคนจะให้ประวัติว่าไอ มากจนอาเจียน หรือไอจนนอนไม่ได้ บางครั้งจะมีลักษณะของอาการหอบร่วมด้วย

โรคปอดอักเสบ เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของเนื้อปอดเอง พบได้ในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ และมักจะรุนแรงมากกว่า เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโรคติดเชื้อในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี อาการที่พบจะประกอบด้วย ไข้ ไอ หายใจหอบ หรือมีลักษณะหายใจลำบาก ในเด็กเล็กมักจะมีอาการงอแงมากกว่าปกติ ไม่ยอมกินอาหารและน้ำ แยกจากภาวะหลอดลมอักเสบ ได้จากการตรวจร่างกาย จะฟังได้ยินเสียงผิดปกติของปอด และเสียงหายใจ สาเหตุมักเกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งพบได้ทั้งจากเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย นอกจากนั้น อาจเกิดจากการสูดสำลักอาหาร และน้ำ รวมทั้งสารเคมีต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการติดเชื้อตามมา ในเด็กที่เป็นปอดอักเสบหลายๆ ครั้ง อาจจะทำให้เกิดความผิดปกติของทางเดินหายใจอย่างถาวรได้ เช่น อาจจะทำให้เกิดเป็นโรคหลอดลมโป่งพอง ส่งผลทำให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ถดถอย และจำเป็นต้องให้การรักษาอย่างต่อเนื่องเหมาะสมตลอดชีวิต

"โรคระบบทางเดินหายใจ" เป็นแล้วรีบรักษา…ไม่สายเกินแก้

สำหรับข้อบ่งชี้ที่ต้องรีบนำผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจมาพบแพทย์ ก็คือ เป็นผู้ป่วยเด็กอายุน้อย โดยเฉพาะถ้าน้อยกว่า 3 เดือน มีอาการไข้สูง หายใจหอบ เหนื่อย เจ็บคอ หรือมีน้ำมูกเขียวเหลืองร่วมกับมีไข้มากกว่า หรือเท่ากับ 38.5 องศา มีอาการปวดบริเวณโพรงจมูก ปฏิเสธไม่ยอมกินอาหาร และน้ำ อาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 อาทิตย์

รู้เท่าทัน ป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจในฤดูฝน

จะเห็นได้ว่าในช่วงฤดูฝน หรือฤดูหนาว เด็กจะป่วยด้วยปัญหาทางเดินหายใจจำนวนมาก และบ่อยกว่าปกติ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็เกิดจากสภาพอากาศที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต และการแพร่ระบาดของเชื้อโรค หากคุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครองไม่อยากจะให้ลูกหลานต้องป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ ก็ควรให้การดูแลที่เหมาะสมเพื่อเป็นการป้องกัน ตัวอย่างเช่น การจัดสิ่งแวดล้อมในบ้านที่อยู่อาศัยให้สะอาดอยู่เสมอ ไม่เข้าไปบริเวณที่มีคนแออัดจำนวนมาก ล้างมือก่อนรับประทานขนม หรืออาหาร รวมทั้งมีการออกกำลังกายที่เหมาะสม กินอาหารครบ 5 หมู่ รวมทั้งดื่มน้ำสะอาดก็จะช่วยให้โอกาสการติดเชื้อลดลง นอกจากนี้ ในปัจจุบันก็มีวิวัฒนาการของวัคซีนต่างๆ มากมายที่สามารถป้องกันโรคติดเชื้อทางระบบหายใจที่มีประสิทธิภาพ และได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

ข้อมูลจากโรงพยาบาลเวชธานี
[ ... ]
 

©2009 Good Health | by TNB