Tuesday, January 26, 2010

ปวดไหล่...อันตรายที่อาจเรื้อรัง


เมื่อพูดถึงหัวไหล่ หลายคนคงสงสัยว่า มีอันตรายที่เกิดขึ้นกับอวัยวะส่วนนี้ได้อย่างไร ก่อนอื่นขออธิบายก่อนว่า หัวไหล่เป็นอวัยวะหนึ่งที่เป็นส่วนของข้อที่มีประโยชน์มากใช้ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย แต่เนื่องจากข้อหัวไหล่มีการเคลื่อนไหวได้มากที่สุดของร่างกาย จึงมักใช้หัวไหล่ในกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ เป็นอย่างมาก เช่น การแต่งกาย การทำความสะอาดร่างกาย การทำงาน รวมทั้งการเล่นกีฬา ซึ่งหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นที่หัวไหล่ จะทำให้การดำเนินชีวิตเป็นไปได้ด้วยความยากลำบากมากขึ้น

อาการปวดไหล่ เป็นปัญหาที่พบได้มากและบ่อยขึ้น โดยอาการปวดอาจจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว หรือเป็นเรื้อรังได้ อาการปวดหัวไหล่อาจมีลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละโรค อาจมีอาการปวดได้ในบางช่วงเวลา หรือมีอาการปวดตลอดเวลา หลายคนคิดว่าอาการปวดหัวไหล่อาจเกิดขึ้นและหายได้เอง แต่ในบางครั้งอาการปวดไหล่ก็เป็นอาการนำของภาวะที่เป็นอันตราย เช่น ภาวะหมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาท ภาวะมะเร็งกระจายมาที่กระดูก รวมทั้งอาจเป็นอาการนำของภาวะโรคที่รุนแรงต้องเข้ารับการผ่าตัด เช่น ภาวะเส้นเอ็นใต้กระดูกสะบักฉีกขาด ข้อไหล่ไม่มั่นคง

นอกจากนี้ อาการปวดไหล่ยังทำให้มีอาการปวดเรื้อรัง ดังเช่น ภาวะไหล่ติด ข้อเสื่อม ภาวะแคลเซียมเกาะเส้นเอ็นหัวไหล่ โดยทั่วไปอาการปวดไหล่สามารถเกิดได้หลายสาเหตุ โดยแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ อาการปวดหัวไหล่ที่เกิดจากความผิดปกติของข้อหัวไหล่เอง หรือความผิดปกติที่เกิดจากอวัยวะข้างเคียงที่มีลักษณะอาการปวดร้าวมาที่หัวไหล่หรือบริเวณใกล้เคียงหัวไหล่ เช่น ภาวะหัวใจขาดเลือด วัณโรคปอด กระดูกต้นคอเสื่อม เป็นต้น

อาการปวดหัวไหล่ที่พบได้บ่อยในคนวัยทำงาน มักเกิดจากภาวะการอักเสบและเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่ กระดูกสะบักด้านหลัง และต้นคอ โดยมีอาการปวดตื้น อาการปวดอาจร้าวไปที่คอ หลัง หรือต้นแขนได้ และอาการที่เกิดขึ้นมักมีความสัมพันธ์กับการใช้งาน เช่น การพิมพ์งานเป็นเวลานาน ๆ การสะพายกระเป๋าหนักเป็น เวลานาน ความเครียด การขาดการออกกำลังกาย ภาวะนี้มักจะมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ แต่ไม่เป็นอันตรายร้ายแรงใด ๆ จึงแนะนำให้สำรวจอาการปวดว่าเกิดจากปัจจัยเสี่ยงใด เช่น สะพายกระเป๋านานเกินไป โต๊ะที่ทำงานสูงเกินไป เวลาพิมพ์งานต้องเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณคอ และหัวไหล่มากและนานเกินไป การแก้ไขที่สำคัญคือควรลดหรือแก้ไขสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ แต่ในกรณีที่ไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน การยืดกล้ามเนื้อและออกกำลังกายบริเวณกล้ามเนื้อรอบกระดูกสะบักและหัวไหล่ จะช่วยลดอาการปวดและตึงตัวของกล้ามเนื้อและช่วยลดการอักเสบของกล้ามเนื้อได้เช่นกัน

ส่วน อาการปวดหัวไหล่ที่เกิดจากอุบัติเหตุ หัวไหล่มักจะได้รับบาดเจ็บที่รุนแรง ได้แก่ ข้อหัวไหล่เคลื่อน โดยจะมีอาการปวดหัวไหล่ทันทีหลังจากเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งจะไม่สามารถขยับหัวไหล่ได้ ทำให้หัวไหล่มีลักษณะผิดรูป ภาวะนี้ควรไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะหากรักษาไม่ถูกต้องอาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น ข้อหัวไหล่ไม่เข้าที่ กระดูกหักร่วมกับภาวะข้อเคลื่อน ภาวะหัวไหล่ไม่มั่นคง ภาวะเส้นเอ็น เส้นเลือด หรือเส้นประสาทบริเวณหัวไหล่ได้รับบาดเจ็บ

นอกจากนี้ อาการปวดหัวไหล่เรื้อรังที่พบมากในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยทั่วไปคนสูงอายุมักจะมาพบแพทย์ค่อนข้างช้า และมาพบเมื่อมีอาการมาแล้วหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน ทำให้อาการปวดหัวไหล่ส่วนใหญ่มักจะมีอาการปวดเรื้อรัง และในบางครั้งทำให้โรคมีความรุนแรงมากขึ้น ภาวะที่พบบ่อยดังกล่าว ได้แก่ ภาวะหัวไหล่ติด ภาวะการอักเสบของเส้นเอ็นใต้กระดูกสะบัก โดยทั้งสองภาวะนี้ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการปวดหัวไหล่ที่คล้ายคลึงกัน คือมีลักษณะปวดหัวไหล่ ปวดร้าวลงมาบริเวณต้นแขน จะยิ่งปวดมากขึ้นในช่วงเวลานอน อาการที่เกิดจะทำให้นอนตะแคงทับหัวไหล่ข้างที่ปวดไม่ได้ พลิกตัวไม่ได้ การเคลื่อนไหวของหัวไหล่จะทำได้น้อยลง ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ลำบาก โดยเฉพาะการหมุนหรือบิดแขนไปด้านหลัง เช่น ติดตะขอชุดชั้นใน หรือถูสบู่ด้านหลัง

สิ่งที่น่าสนใจเพิ่มเติมก็คือ ภาวะหัวไหล่ติด สามารถเกิดขึ้นได้เอง หรือเกิดได้จากการบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การถูกกระแทก มักเกิดได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน ไทรอยด์ และความผิดปกติที่ปอด เช่น วัณโรคหรือจุดที่ปอด ลักษณะจะมีการอักเสบของเยื่อหุ้มข้อหัวไหล่ในช่วงแรก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหัวไหล่ แต่ไม่มีจุดกดเจ็บที่ชัดเจน เมื่อเวลาผ่านไปอาการจะเป็นมากขึ้น ทำให้ทำการเคลื่อนไหวข้อหัวไหล่ได้ลำบากมากขึ้น การเคลื่อนไหวที่ลดลงจะเป็นเกือบทุกทิศทาง ยกแขนได้ไม่สุด โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวในทิศทางบิดหมุนหัวไหล่จะมีการเคลื่อนไหวได้น้อย ทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างยากลำบาก เช่น การถอดหรือใส่เสื้อยืด การถูสบู่ การหยิบของในที่สูง ภาวะนี้สามารถหายเอง มักใช้เวลานานนับปี ทำให้ผู้ป่วยที่มีภาวะนี้ค่อนข้างลำบากพอสมควรในช่วงเวลาที่มีอาการไหล่ติด การรักษานอกเหนือจากการใช้ยาแก้อักเสบและยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการแล้ว การบริหารยืดข้อหัวไหล่จะช่วยทำให้ภาวะนี้หายเร็วขึ้น ซึ่งสามารถทำได้ง่าย ๆ ที่บ้าน เช่นการใช้มือไต่ผนัง การรำกระบอง เป็นต้น ในช่วงแรกที่มีอาการปวด และยังมีหัวไหล่ติดไม่มากนัก การใช้ยาต้านการอักเสบร่วมกับการบริหารข้อหัวไหล่จะได้ผลค่อนข้างดี แต่ถ้าปล่อยให้มีอาการมานาน หัวไหล่เคลื่อนไหวได้น้อยลงอย่างมาก จนการเคลื่อนไหวลดลงทุกทิศทาง การรักษาอาจจะต้องใช้ระยะเวลานาน หรือไม่ประสบความสำเร็จในการรักษา ต้องใช้วิธีอื่น ๆ ในการรักษา เช่น การดมยาสลบดัดข้อหัวไหล่ หรือผ่าตัดส่องกล้องข้อหัวไหล่เพื่อตัด และยืดเยื่อหุ้มข้อหัวไหล่ที่หดรัดตัวอยู่

ภาวะเส้นเอ็นใต้สะบักอักเสบ ก็เป็นอีกภาวะหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เป็นภาวะที่ควรแยกออกจากภาวะข้อไหล่ติดเพราะการดำเนินโรค และการรักษามีความแตกต่างกัน ถึงแม้ว่าจะมีอาการปวดหัวไหล่ที่คล้ายคลึงกับภาวะข้อไหล่ติด มีอาการปวดในเวลากลางคืน แต่อาการปวดของภาวะนี้เกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็นกล้ามเนื้อใต้สะบัก และถุงที่อยู่ระหว่างเส้นเอ็นและกระดูก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหัวไหล่ จนปวดร้าวลงมาที่แขนได้ อาการปวดมักจะเป็นขึ้นในขณะที่มีกิจกรรมที่ต้องใช้แขนยกเหนือศีรษะ เช่น หยิบกระเป๋าจากชั้นวางของ นอนยกแขนวางบนหน้าผาก และการเคลื่อนไหวอาจจะลดลงในบางทิศทาง แต่ไม่มากเท่ากับภาวะข้อหัวไหล่ติด ภาวะนี้เกิดจากหลายปัจจัย เช่น การเสื่อมสภาพของเส้นเอ็นหัวไหล่ในผู้สูงอายุ กระดูกสะบักด้านหน้าที่มีลักษณะโค้งมากผิดปกติ หรือกระดูกงอกบริเวณกระดูกสะบักด้านหน้า รวมไปถึงการได้รับอุบัติเหตุข้อไหล่เคลื่อน เป็นต้น

อาการปวดไหล่สามารถแก้ไขได้ โดยเริ่มต้นที่การสังเกตอาการ ท่าทางของตนเองว่ามีความผิดปกติอย่างไร น่าจะมีสาเหตุเกิดขึ้นจากอะไร ซึ่งแน่นอนว่า จะทำให้ง่ายต่อการวินิจฉัยของแพทย์เมื่อต้องทำการรักษาในระยะแรก.

ที่มา : นพ.ชูศักดิ์ กิจคุณาเสถียร
ภาควิชาออร์โธปิดิกส์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment

 

©2009 Good Health | by TNB