Tuesday, January 26, 2010

"สลายนิ่ว" โดยไม่ต้องผ่าตัด


โรคนิ่ว เป็นปัญหาหนึ่งที่บั่นทอนสุขภาพคนไทยทั่วทุกภาค ด้วยเหตุนี้โรงพยาบาลหลายแห่ง จึงให้บริการสลายนิ่ว ด้วยเครื่องสลายนิ่ว โดยไม่ต้องผ่าตัด อย่างไรก็ตามการใช้เครื่องสลายนิ่ว ก็มีข้อจำกัด ไม่สามารถทำได้ในผู้ป่วยทุกราย โดยเฉพาะกรณีที่มีการตีบตันของท่อไต ไตพองมาก หรือมีการติดเชื้ออย่างรุนแรง

นพ.กิตติพงษ์ พินธุโสภณ สาขาวิชา ศัลยศาสตรยูโรวิทยา ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า นิ่วเป็นได้ตั้งแต่ในไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ

นิ่วเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน ตั้งแต่ตัวคนไข้เองอาจจะเป็นโรคบางอย่างที่ทำให้ไตขับเกลือแร่บางชนิดออกมามากเกินปกติ หรือโรคทางพันธุกรรมบางอย่าง ถ้าเป็นจากพฤติกรรมของคนไข้ เช่น ภาวะทุพโภชนาการ การดื่มน้ำน้อยกว่าปกติทำให้ ปัสสาวะเข้มข้นและตกตะกอนง่าย นอกจากนี้การรับประทานยาบางอย่างก็ทำให้เกิดนิ่วได้ เช่น ยาต้านไวรัสบางตัว

อาการของคนไข้ที่เป็นนิ่วจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดนิ่ว ส่วนใหญ่คนไข้ที่มีอาการปวดมาพบแพทย์จะเป็นที่ท่อไต นิ่วจะลงมาอุด มักมีอาการปวดบริเวณสีข้างร้าวไปที่หลัง หรือร้าวลงไปที่ท้องน้อย ถ้าอุดตันเป็นมานาน มีเชื้อเจริญขึ้นมา อาจมีไข้ได้ ถ้าลงไปในท่อปัสสาวะอุดตันฉี่ออกมาไม่ได้ทำให้ปัสสาวะบ่อย ถ้าหากนิ่วทำให้เกิดการอักเสบเยอะ ๆ ก็อาจจะทำให้มีเลือดออกได้ หรือช่วงที่นิ่วเคลื่อนไปในท่อไต ก้อนนิ่วอาจจะขูดผนังเยื่อบุท่อไตทำให้มีเลือดออกได้เช่นกัน

ในกรณีที่คนไข้มาพบแพทย์ จะมีการซักประวัติร่วมกับการตรวจร่างกาย ตรวจปัสสาวะดูก่อน ส่วนใหญ่จะเจอเม็ดเลือดแดงออกมาในปัสสาวะ ถ้าสงสัยก็นำไปเอกซเรย์ดู ก็จะเห็นนิ่วส่วนใหญ่แต่ไม่ทั้งหมด เพราะถ้าไม่ใช่นิ่วที่เกิดจากแคลเซียมบางทีก็จะมองไม่เห็นจากการเอกซเรย์ธรรมดา ดังนั้นนิ่วที่เกิดจากกรดยูริกต้องอัลตราซาวด์ หรือ ฉีดสีดูจึงจะเห็น

การรักษา นิ่วในไต ถ้าก้อนไม่ใหญ่มากจะใช้เครื่องสลายนิ่ว โดยการปล่อยพลังงานของแรงกระแทกจากภายนอกร่างกายเข้าไป ที่เรียกว่า “เอ็กซ์ตราคอร์โพเรียล ชอก เวฟ ลิโธทริพซี” หรือ อีเอสดับเบิลยูแอล (ESWL)

เครื่องสลายนิ่วจะคล้าย ๆ เครื่องเอกซเรย์ แต่เป็นเอกซเรย์แบบต่อเนื่อง เครื่องนี้จะฉายให้เห็นว่านิ่วอยู่ตรงไหน ก็จะตั้งโฟกัสไปตรงนั้น โดยจะมีตัวส่งคลื่นกระแทกไปที่นิ่ว ก้อนนิ่วก็จะแตกเป็นเศษเล็ก ๆ ปนออกมากับปัสสาวะ ทั้งนี้ก่อนการสลายนิ่วจะให้คนไข้กินยาแก้ปวด หรือฉีดยาแก้ปวดให้ก่อน โดยการสลายนิ่วจะใช้เวลาประมาณ 1 ชม.

ในกรณีที่เป็นนิ่วท่อไตขนาดไม่ใหญ่มากจะให้คนไข้กินน้ำเยอะ ๆ รอให้ขับออกมาเอง แต่คนไข้มักจะไม่เข้าใจว่าทำไมแพทย์ไม่ทำอะไรเลย จริง ๆ แล้วถ้านิ่วขนาดเล็กกว่า 6-8 มม. ส่วนใหญ่สามารถหลุดออกมาเองได้ ถ้าดื่มน้ำเยอะ ๆ แต่ถ้าเม็ดใหญ่กว่านั้นจะใช้วิธีสลายนิ่ว ส่วนจำนวนครั้งในการสลายนิ่ว ขึ้นอยู่กับขนาดนิ่วและจำนวนก้อนนิ่ว ถ้าเป็นนิ่วหลายเม็ด และอยู่คนละที่ ก็แบ่งยิงคนละครั้ง เพราะถ้ายิงครั้งเดียวไตจะช้ำ

ข้อควรระวังในการใช้เครื่องสลายนิ่ว คือ เด็กตัวเล็ก ๆ คนที่มีปัญหาเลือดออกผิดปกติ หรือคนที่มีการอักเสบทางเดินปัสสาวะจากภาวะติดเชื้อ เพราะอาจจะทำให้เชื้อเข้ากระแสเลือดได้

นพ.กิตติพงษ์ แนะนำว่า ในการป้องกันโรคนิ่ว ควรดื่มน้ำให้มาก ๆ ไม่ต่ำกว่า 2 ลิตรต่อวัน นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกเครื่องใน กะปิ เป็นต้น.

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment

 

©2009 Good Health | by TNB